ความเป็นมา

หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับอนุมัติให้ก่อตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ในปี ๒๕๓๓ และได้รับจัดสรรงบประมาณดำเนินการของหน่วยในปีงบประมาณ ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๔ ทางหน่วยได้ดำเนินการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ได้มีส่วนสำคัญในการผลิตบัณฑิต ระดับปริญญาบัณฑิต มหาบัณฑิต ในหลักสูตรพฤกษศาสตร์ และดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

 

 
 

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ในการวิจัยของหน่วยฯ เน้นการศึกษาอนุกรมวิธานของพรรณไม้ในประเทศไทยในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  • ศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้เน้นพื้นที่ โดยศึกษาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อน

  • ศึกษาทบทวนพันธุ์ไม้เฉพาะกลุ่ม (revision) ในโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) โดยศึกษาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

  • ศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน โดยศึกษาความเกี่ยวข้องและการใช้ประโยชน์จากพืชกับชุมชนท้องถิ่น

  • ศึกษาอนุกรมวิธานของพืชเศรษฐกิจ พรรณไม้ประดับ และพืชที่มีการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ

  • ศึกษาสัณฐานวิทยาของสปอร์และเรณูของพรรณไม้ในประเทศไทย

  • ศึกษาชีวานุกรมวิธานของสกุลหรือชนิดเชิงซ้อน โดยศึกษาข้อมูลหลายๆ ด้าน เช่น ชีวโมเลกุล อนุกรมวิธานเชิงตัวเลข กายวิภาค และเรณูวิทยา

 
 

เป้าหมาย

เป้าหมายการดำเนินงานของหน่วยฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านความหลากหลายของพรรณไม้ในประเทศไทย และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารการวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการวิจัยแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดกับนักวิจัยในหน่วยงานอื่น ในรูปแบบจัดการฝึกอบรม และเขียนบทความ เอกสารทางวิชาการเพื่อใช้ในการอ้างอิง โดยตัวอย่างพรรณไม้และผลงานการวิจัยต่างๆ ได้เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์


 
 

ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

         ทางด้านวิชาการ หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทยมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลพรรณไม้ แลกเปลี่ยนตัวอย่างพันธุ์ไม้ และร่วมทำวิจัยเกี่ยวกับพรรณไม้ในประเทศไทยกับสวนพฤกษศาสตร์ สวนหลวง ร.๙  หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF)  พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ กรมวิชาการเกษตร (BK)  หอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (QSBG)  รวมทั้งสถาบันการศึกษาในประเทศที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับความหลากหลายของพรรณไม้ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

         สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ทางหน่วยฯ มีการติดต่อโดยสามารถส่งนิสิตไปร่วมทำวิจัยได้ที่ศูนย์ Eastern Cereal and Oilseed Research Center เมือง Ottawa และมหาวิทยาลัย Ottawa ประเทศแคนาดา  นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการด้านความหลากหลายของพืชกับพิพิธภัณฑ์พืชคิว (Kew Herbarium)  บริติชมิวเซียม (British Natural History Museum) สหราชอาณาจักร  พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

 
 
   

 

 
 
 
   

จัดทำโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

PLANTS OF THAILAND RESEARCH UNIT,  DEPARTMENT OF BOTANY,  FACULTY OF SCIENCE,  CHULALONGKORN UNIVERSITY

last updated 1/11/2550