กลับสู่หน้าแรก

Sterculia pexa
Sterculia pexa
Sterculia pexa

ปอบ้าน ปอขาว

Sterculia pexa Pierre

วงศ์ STERCULIACEAE

       ปอบ้านหรือปอขาวเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีครีมอ่อนหรือเทาอ่อน ผิวเรียบหรือมีรอยแตกตื้นๆ ใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบย่อย 7-9 ใบ ใบอ่อนสีชมพู ใบแก่มีขนสั้นๆ สีขาวอ่อนนุ่มด้านล่าง ดอกสีเหลืองสด ส้มหรือแดง กลีบดอกรูประฆัง ปลายมี 5 แฉกโค้งเข้าหากลางดอกมาจรดกัน ผลออกเป็นกลุ่มรูปดาว กลุ่มละ 3-5 ผล มีขนยาวหนาแน่นซึ่งถูกแล้วคัน

      พบมากในป่าเบญจพรรณกึ่งโล่งแจ้ง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-900 เมตร ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางตะวันตกเฉียงใต้

ข้อมูลจาก ไซมอน การ์ดเนอร์ และคณะ. 2543. ต้นไม้เมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

ภาพถ่ายจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดย สหัช จันทนาอรพินท์.

 

สันตะวาใบข้าว

ชื่อวิทยาศาสตร์  Vallisneria spiralis L.

วงศ์ HYDROCHARITACEAE

ชื่ออื่น  สันตะวาขนไก่ (สุราษฎร์ธานี)

ชื่อสามัญ  Eel grass, Tape grass

สันตะวาใบข้าวเป็นพืชใต้น้ำ มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้าสั้นและที่เป็นไหล ใบเดี่ยว เรียงเวียน ออกเป็นกอ ใต้กอมีรากยึดติดพื้นดิน แผ่นใบรูปแถบ ยาวตามระดับน้ำ กว้างประมาณ 1 ซม. โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาวชูดอกขึ้นมาบานที่ผิวน้ำ เมื่อได้รับการผสมแล้วก้านดอกจะหดสั้น ดึงผลให้มาเจริญใต้น้ำ ผลรูปทรงกระบอก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก

นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในตู้ปลา

ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค ตามลำธารที่มีน้ำไหล บริเวณภูเขาหินปูน

ข้อมูลจาก สุชาดา ศรีเพ็ญ. 2542. พรรณไม้น้ำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ภาพถ่ายจากภูวัว จ.หนองคาย โดย ดร.ชุมพล คุณวาสี และสุชาดา วงศ์ภาคำ

Seidenfadenia

    Seidenfadenia กล้วยไม้สกุลนี้เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ชื่อสกุลตั้งให้เป็นเกียรติแด่ Dr. Gunnar Seidenfaden อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์คประจำประเทศไทย ผู้เป็นปรมาจารย์ทางอนุกรมวิธานกล้วยไม้ไทย มีสมาชิกเพียงชนิดเดียว คือ

Seidenfadenia mitrata (Rchb.f.) Garay

หนวดพราหมณ์

    ต้นสั้น ใบสีเขียวเข้มเป็นเส้นอวบ ยาว 30-50 ซม. ด้านที่หันเข้าหาต้นเป็นร่องลึกตลอด มี 5-7 ใบ เรียงตัวใกล้โคนต้นและห้อยลง ช่อดอกตั้ง สูง 10-15 ซม. ดอกออกรอบแกน เป็นพุ่มคล้ายรูปทรงกระบอก ขนาดดอกประมาณ 1.5 ซม. ดอกบานทนหลายวัน

ออกดอก เดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ประเทศไทย : พบในป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

การกระจายพันธุ์ : พม่า

ข้อมูลจาก อบฉันท์ ไทยทอง. 2543. กล้วยไม้เมืองไทย. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน.

ภาพถ่ายโดย สหัช จันทนาอรพินท

Hoya thailandica Thaithong, Nordic Journal of Botany 21(2): 143. 2001.

วงศ์ ASCLEPIADACEAE

ไม้สกุลนมตำเลียชนิดนี้ เป็นไม้เลื้อย มีลักษณะเด่นคือ ใบรูปไข่ หรือรูปรี ก้านใบยาว 4-6 ซม. ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม มี 10-15 ดอก กลีบเลี้ยงรูปท้องเรือ ขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ยาว 6-8 มม. กว้าง 6-7 มม. กลีบดอกสีขาวเกลี้ยง แฉกกลีบดอกรูปไข่ กะบังรอบสีม่วงปนแดง

ตัวอย่างต้นแบบพบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ความสูง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และยังพบขึ้นที่ดอยช้าง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลระดับเดียวกัน

เฟิร์นแววปีกแมลงทับ

Microsorum thailandicum T. Boonkerd & Noot., Blumea 46: 581. 2001.

วงศ์ POLYPODIACEAE

เฟิร์นชนิดนี้พบขึ้นตามธรรมชาติบนเขาหินปูน จังหวัดชุมพร โดยขึ้นตามซอกหิน บริเวณที่ค่อนข้างร่ม ที่ความสูง 250-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ ใบมีสีเขียวเข้มแกมเหลือบสีน้ำเงินแวววาว คล้ายสีปีกแมลงทับ

เนื่องจากเฟิร์นชนิดนี้มีสีสันสวยงามสะดุดตา มีผู้นิยมปลูก จึงได้ถูกนำออกจากถิ่นอาศัยในธรรมชาติมาขายเป็นจำนวนมาก จนเป็นพืชที่หายากในปัจจุบัน

   

กลับสู่หน้าแรก

 

 

 

 

   
   

 

จัดทำโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

PLANTS OF THAILAND RESEARCH UNIT,  DEPARTMENT OF BOTANY,  FACULTY OF SCIENCE,  CHULALONGKORN UNIVERSITY

last updated 1/11/2550