กานพลู
ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (Linn.) Merr & Perry.,
Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S. G. Harrison.,
Eugenia aromatica Ktze.
ชื่อวงศ์ Myrtaceae
ชื่ออังกฤษ Clove
ชื่อท้องถิ่น จันจี่
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์

  1. ฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุกระเพาะ มี eugenol ซึ่งกระตุ้นให้มีการหลั่ง mucin มาป้องกันเยื่อบุกระเพาะ
  2. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ กานพลู มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยลดอาการปวดเกร็ง
  3. สารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ พบสาร eugenol ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้

การใช้กานพลูรักษาอาการแน่นจุกเสียด
ใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก (0.12-0.6 กรัม) ต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน


ฝรั่ง
ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Psidium guajava Linn.
ชื่อวงศ์ Myrtaceae
ชื่ออังกฤษ Guava
ชื่อท้องถิ่น จุ่มโป่, ชมพู่, มะก้วย, มะก้วยกา, มะกา, มะจีน, มะมั่น, ยะมูบุเตบันยา, ยะริง, ยาม, ย่ามู, สีดา
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ใบ

  1. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้สารสกัดจากใบด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้เล็กของหนู
  2. สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย สารที่พบคือ quercetin และ quercetin-3arabinoside ลดการบีบตัวของลำไส้ โดยยับยั้ง acetylcholine จึงทำให้หยุดถ่าย
  3. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุท้องเสีย สารสกัดจากใบด้วยน้ำสามารถต้านเชื้อ Shigella dysentriae
  4. การทดลองทางคลินิก ใช้รักษาอาการท้องเสีย มีรายงานการรักษาโดยใช้แคปซูลใบฝรั่งแห้งบดเป็นผง กับคนไข้อุจจาระร่วง 122 คน ชาย 64 คน หญิง 58 คน โดยรับประทาน 2 แคปซูลๆ ละ 250 มิลลิกรัม ทุก 3 ชั่วโมง 3 วัน พบว่าได้ผลดีกว่า tetracycline และไม่พบอาการข้างเคียง

ผล

  1. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุท้องเสีย ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคไทฟอยด์ (Bacillus typhosus)
  2. สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย ผลฝรั่งพบ tannin มีฤทธิ์ฝาดสมานใช้แก้อาการท้องเสีย


การใช้ฝรั่งรักษาอาการท้องเสีย

  1. นำใบฝรั่งมาล้างน้ำให้สะอาด ประมาณ 10-15 ใบ แล้วโขลกพอแหลก ใส่น้ำ 1 แก้วใหญ่ นำไปต้มใส่เกลือพอมีรสกร่อย พอเดือดยกลงนำมาดื่มแทนชาได้ผลดี
  2. นำผลฝรั่งอ่อนๆ มาฝานเอาแต่เปลือกกับเนื้อเท่านั้น เมล็ดทิ้งไปใส่เกลือเล็กน้อยพอกร่อยๆ แล้วกินรวมกัน หรือจะใช้ต้มดื่มเป็นน้ำฝรั่งก็ได้
  3. นำใบฝรั่งสดที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไปมาตัดหัวตัดท้ายแล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ ตักน้ำที่ได้จากการแช่ใบฝรั่งมาจิบทีละนิดอย่าจิบมากจะทำให้ท้องผูก

มะขาม
ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn.
ชื่อวงศ์ Caesalpiniaceae
ชื่ออังกฤษ Tamarind
ชื่อท้องถิ่น ตะลูบ, ม่องโคล้ง, มอดแล, ส่ามอเกล, หมากแกง, อำเบียล
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์
เมล็ด

  1. สารสำคัญในการออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสียสารที่พบที่เมล็ด คือ tannin มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสีย
  2. ฤทธิ์ขับพยาธิ เมื่อทดสอบกับตัวอ่อนของพยาธิ Meloidogyne inconita พบว่าจะได้ผลภายหลัง 48 ชั่วโมง

ผล

  1. สารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย เนื้อมะขามมีกรด tataric ซึ่งช่วยระบายท้อง
  2. การทดสอบความเป็นพิษต่อตัวอ่อน โดยฉีดสารสกัดจากผลด้วยน้ำ (1:1) เข้าในหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบอันตราย

การใช้มะขามรักษาอาการท้องเสีย ใช้เมล็ดคั่วให้เกรียม กระเทาะเปลือกแช่น้ำเกลือจนนิ่ม รับประทานแก้ท้องเสีย
การใช้มะขามรักษาอาการท้องผูก

  1. ใช้เนื้อจากฝักละลายน้ำแล้วผสมเกลือสวนทางทวาร
  2. ใช้เนื้อจากฝักผสมเกลือรับประทาน
  3. ปั้นเนื้อจากฝักผสมเกลือปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน

การใช้มะขามรักษาโรคพยาธิไส้เดือน นำเมล็ดที่คั่วและกระเทาะเปลือกออก แล้วมาแช่ในน้ำเกลือจนนิ่มรับประทานประมาณ 20-30 เมล็ด สามารถขับพยาธิตัวกลมได้


มังคุด
ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana Linn.
ชื่อวงศ์
Guttiferae
ชื่ออังกฤษ Mangosteen
ชื่อท้องถิ่น -
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์

  1. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุท้องเสีย สารสกัดมังคุดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุอาการท้องเสีย ได้แก่ Shegella dysenteriae, Sh. flexnesi, Sh. sonnei และ Sh. boydii , Escherichia coli , Streptrococcus faecalis, Vibryo cholerae เป็นต้น
  2. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสีย สารที่พบมากที่เปลือกคือ tannin มีฤทธิ์ฝาดสมาน จึงช่วยแก้อาการท้องเสีย

การใช้มังคุดรักษาอาการท้องเสีย

  1. ใช้เปลือกผลตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส นำน้ำมาดื่ม
  2. ใช้เปลือกผลตากแห้งฝนกับน้ำดื่ม
  3. ใช้เปลือกผลตากแห้งฝนกับน้ำ ให้เด็กดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง และผู้ใหญ่ ครั้งละ 4 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง

การใช้มังคุดรักษาแผล เอาเปลือกมังคุดตากแห้งฝนกับน้ำปูนใส ใช้ทาแผลพุพอง แผลเน่าเปื่อย