การเรียนรู้บทบาทของพืชในการสืบสานวิถีไทย

รศ.ดร.อรุณี จันทรสนิท และ รศ.วิยดา เทพหัตถี

        ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มักทำให้ประชากร โดยเฉพาะ เยาวชนหลงลืมคุณค่าของธรรมชาติ และต้นไม้ใบหญ้าที่มีต่อชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงขาดแคลนผู้สนใจที่จะศึกษาถึงการสืบสานวิถีชีวิต แบบไทย ๆ วิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่า และพรรณไม้นานาชนิดตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในอดีต เมื่อประเทศไทยยัง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไทยมีเกียรติภูมิ ไม่ต้องมีหนี้สินต่างประเทศมากมาย ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โดยเฉพาะทรัพยากรทางชีวภาพ จนมีผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยทั่วไป แต่เยาวชนไทยในเมือง ไม่ได้ตระหนักถึงความสูญเสียสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นไทยเท่าที่ควร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปลุกจิตสำนึกให้ ผู้ที่จะทำงานระดับบริหารองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐในอนาคตเหล่านี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรซึ่งเป็น สมบัติล้ำค่าของแผ่นดินไทยเพื่อลูกหลาน และความมั่นคงของชาติต่อไป

        ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากดินและน้ำ ป่าเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนแหล่งใหญ่ที่ไม่ต้องมีการ ลงทุน ป่าเขตร้อนอย่างป่าในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยป่าหลายประเภท เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด มีผู้เปรียบ เทียบไว้ว่า ป่าเขตร้อนคือคลังสารเคมีขนาดใหญ่ที่มีคุณค่ามหาศาล ที่รอเวลาให้ผู้รู้ได้ศึกษาค้นคว้า และนำมาสร้างความสุขสมบูรณ์ แก่มวลมนุษยชาติ ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพรรณพืช (Plant diversity) อยู่ในลำดับสูง เมื่อพลเมืองเพิ่มขึ้น ผืนป่า เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่ของชุมชนมากขึ้น ทรัพยากรชีวภาพก็ลดลงตามไปด้วย พืชบางชนิดมีจำนวนประชากร ไม่มาก เป็นพืชหายาก มีความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์ พืชบางชนิดพบขึ้นและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติเฉพาะบริเวณ และมีเขตกระจาย พันธุ์ทางภูมิศาสตร์ค่อนข้างจำกัด เช่น กล้วยไม้ป่าหลายชนิดที่มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในประเทศไทย พืชเหล่านี้หากถูกทำลาย ไปก็ยิ่งนับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรพรรณพืชที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ความสำคัญของพืชในวิถี (ชีวิต)ไทย

        คนไทยได้อาศัยพึ่งพาพรรณไม้ในการดำรงชีวิตทั้งในด้านของปัจจัยสี่ ศิลป วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมสร้างความสุข ทั้งกายและใจ ความรู้ ความสามารถ และผลิตผลต่าง ๆ ที่มีการคิดค้น ปรับปรุงแก้ไข และเลือกสรร ได้ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจาก บรรพบุรุษ จนถึงรุ่นปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้นการเรียนรู้ในวิถีไทย จึงได้เรียนรู้ภูมิปัญญา และบทบาทของ พืชพรรณไปพร้อมกัน

        เรือนไทย และวัดเก่าหลายแห่งโดยเฉพาะทางภาคเหนือ มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด การสร้างจะสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งที่คงทน เช่น ไม้สัก เรือนไทยเป็นที่อยู่อาศัยที่โล่งสบาย สร้างแบบใต้ถุนสูง เพราะมักจะมีน้ำท่วมในฤดูฝน รูปแบบอาจแตกต่างกันบ้างตามภูมิภาค และฐานะของเจ้าของบ้าน มียุ้งฉางแยกห่างจากตัวบ้าน เพื่อเก็บข้าวสำรองไว้บริโภค และทำพันธุ์ รอบ ๆ บ้านปลูกพืชไว้ใช้ประโยชน์ ต่าง ๆ เช่น พืชผักสวนครัว ดอกไม้หอมสำหรับบูชาพระ อบร่ำขนม และทำงานศิลปะต่าง ๆ เช่น การร้อยมาลัย การทำบายศรี เป็นต้น ถ้าเป็นบ้านทางภาคเหนือและภาคอิสาน จะมีการปลูกหม่อนเพื่อใช้เลี้ยงไหม และมีการทอผ้าไหมเป็นเอกลักษณ์ในด้านเครื่องนุ่งห่ม และงานอาชีพอีกอย่างหนึ่งด้วย

        การสร้างบ้านแบบเรือนไทย บ้านไม้สัก หรือแม้แต่บ้านไม้อื่น ๆ ทั้งหลังในปัจจุบันนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะความขาดแคลนไม้ และราคาไม้ที่สูงมาก คนรุ่นใหม่มักจะเรียนรู้เรื่องเรือนไทยได้เฉพาะจากเรือนไทยที่ยังมีการอนุรักษ์ไว้เท่านั้น เป็นที่น่ายินดีและ ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างเรือนไทยที่งดงามตามแบบแผนสถาปัตยกรรมไทยเพื่อเป็นตัวอย่างศึกษาที่ทรง คุณค่า และอนุรักษ์เรือนภรตราชา ซึ่งเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ใน บริเวณมหาวิทยาลัย

        ในด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอีกหนึ่งวิถีไทยที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เพราะความอร่อย ความหลากหลายความ ปราณีตบรรจงในการจัดอาหารและปัจจุบันยังเป็นที่ยอมรับด้วยว่าเป็นอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และมีคุณค่าทางสมุนไพรไปพร้อม ๆ กันด้วย ข้าวเป็นอาหารหลักของไทยที่นอกจากจะให้พลังงานแล้ว ยังมีข้าวบางอย่าง เช่น ข้าวกล้อง อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ไวตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะไวตามินบี ข้าวขาวดอกมะลิเป็นข้าวคุณภาพเลิศจนถือเป็นสัญลักษณ์ของข้าวไทย สมัยก่อนประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวพื้นเมือง จำนวนมากที่เหมาะสมกับการปลูกในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่นับวันพันธุ์เหล่านี้จะค่อย ๆ สูญหายไป เพราะผลผลิตต่ำกว่าข้าวพันธุ์ ใหม่ ๆ ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูก การอนุรักษ์ต้นพันธุ์เดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการรักษาทรัพยากรพันธุกรรมพืช

        พืชผักที่จำหน่วยในท้องตลาด ส่วนหนึ่งได้จากการเพาะปลูกจากเมล็ด ผักนำเข้า เช่น มะเขือเทศ กล่ำปลี ผักกาด และหอมใหญ่ อีกส่วนหนึ่งเป็นผักพื้นบ้านของไทยที่ชาวบ้านเก็บมาจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยกว่าผักที่นำเข้า แต่มี ข้อที่ดีกว่าคือ ผักพื้นบ้านเหล่านี้จะปลอดจากยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่าง ๆ ผักพื้นบ้านเป็นอาหารสำคัญของคนไทยในภาคเหนือ ภาค อิสาน และภาคใต้ที่นิยมบริโภค เช่น กระถิน สะตอ ผักกระเฉด เป็นต้น

        ผลไม้ไทยก็มีชื่อเสียงจากรสชาติที่ยอดเยี่ยม และความหลากหลายของชนิดและพันธุ์ ผลผลิตมีผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดปี คนไทยจึงมีผลไม้บริโภคไม่ขาดแคลน บางชนิดเป็นสินค้าส่งออกทั้งในรูปผลไม้สด หรือแปรรูป คนรุ่นใหม่มักนิยมดื่มน้ำอัดลมมากกว่าน้ำผลไม้ ทั้งที่น้ำผลไม้มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า และราคาถูกกว่า นอกจากนั้นการปลูกไม้ผลเป็นไม้ยืนต้น จะช่วยลดปัญหาดินเสื่อม ซึ่งมักจะเกิดกับการปลูกพืชไร่ที่ต้องไถพรวนบ่อย ๆ

        ประเทศไทยเป็นแหล่งรวมพืชสมุนไพรจำนวนมาก การใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคจึงอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยตลอดมา หมอพื้นบ้าน มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้พืชสมุนไพรยังคงมีการใช้ดังกล่าว และพัฒนาให้ทันสมัย โดยนักวิชาการและแพทย์แผนปัจจุบัน จนปัจจุบันนี้ สมุนไพรเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติ มีการส่งเสริมจากภาครัฐมากขึ้น และหลายชนิดกลายเป็นสินค้าส่งออก พืชสมุนไพรจะยังคงความสำคัญในวิถีไทยต่อไป หากเยาวชนไทยได้รับความรู้เรื่องพืชสมุนไพรอย่างถูกต้อง และไม่คิดว่าพืชสมุนไพร เป็นเรื่องล้าสมัย

        ในด้านศิลปวัฒนธรรมและดนตรี ประเทศไทยก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่อง คนไทยมีศิลปะและความสามารถทางดนตรีสูง เครื่อง ดนตรีไทยทำจากพรรณไม้หลาย ๆ ชนิด ซึ่งต่างมีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะสมในการทำเครื่องดนตรีแต่ละอย่าง ดังตัวอย่างที่แสดง ไว้ในตารางที่ 1 อาจารย์อรไท ผลดี ได้นำเสนอในการสัมนาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2535 ว่า พรรณไม้ที่ใช้ทำเครื่องดนตรีไทยมีประมาณ 20 วงศ์ บางชนิดเป็นไม้หายากในปัจจุบัน และบางชนิดคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ไม้มะริด ปัญหาการผลิตเครื่องดนตรีไทยในปัจจุบันคือความขาดแคลนไม้ ทำให้ต้องมีการใช้ไม้ชนิดอื่นแทน ซึ่งจะไม่ได้คุณสมบัติ เท่าเดิม

ตารางที่ 1 พรรณไม้บางชนิดใช้ที่ทำเครื่องดนตรีไทย

วงศ์

พันธุ์ไม้

เครื่องดนตรีหรือชิ้นส่วนที่ผลิต

วงศ์ไม้ไผ่

(Bambusaceae)

 

 

 

วงศ์ปาล์ม

(Arecaceae)

ไผ่บง

ไผ่สีสุก

ไผ่ตง

ไผ่ซาง

ไผ่นวล

ไม้รวก

ตาล

หวาย

มะพร้าว

เหลาชะโอน

กรับ ไม้ตีระนาด

ฆ้อง กะโหลกซอด้วง

ลูกระนาด

ขลุ่ย แคน

ลูกอังกะลุง

ไม้ตีกลอง ขลุ่ย ปี่อ้อ ปี่ซอ

โทน

รำมะนา ฆ้อง (ร้านฆ้อง)

กะโหลกซออู้ ซอสามสาย

แกนซอสามสาย และลูกบิดซอ

        ปัจจุบันคนไทยให้ความสนใจดนตรีไทยน้อยลง ขณะที่การผลิตเครื่องดนตรีไทยก็มีปัญหา จึงเป็นที่น่าห่วงว่าในอนาคตเครื่อง ดนตรีไทยอาจมีอยู่เฉพาะในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น อย่างไรก็ตามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมในเรื่องดนตรีไทยอย่างเป็น รูปธรรมมานานพอสมควรแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาทรงดนตรี ไทยเป็นประจำทุกปี ทำให้นิสิตตื่นตัวในเรื่องดนตรีไทยมากขึ้น

การรักษาสภาพแวดล้อมและบรรยากาศแบบไทยๆ

        การเกษตรสมัยใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลายอย่างในการผลิตจนได้ผลผลิตสูงส่งผลให้ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะ เรื่องสภาพแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันเกษตรกรยังคงยากจนเช่นเดิม เศรษฐกิจมิได้ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง ดังนั้นเมื่อมีแนวพระราชดำริ เรื่องการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และวิถีการดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง เหมาะสมอย่างยิ่งกับเกษตรกรโดยทั่วไป ทำให้การ ดำรงชีวิตของครอบครัวเกษตรกรมีความสุขแม้จะยังไม่ร่ำรวยก็ตาม ด้วยวิธีการปลูกพืชที่ลดการใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลงและ หันมาใช้ผลิตผลจากพืชแทน ทำให้รักษาสภาพแวดล้อมได้ดี และ เกษตรกรเห็นความสำคัญของพืชพรรณอื่นๆ มากขึ้น บรรยากาศของ เรือกสวนไร่นาจึงกลับไปมีลักษณะที่คล้ายวิถีชีวิตไทยแบบเดิมๆ แต่รับเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้เฉพาะที่เหมาะสมกับชีวิตไทยๆ เท่านั้น

การถ่ายทอดพฤกษศาสตร์น่ารู้สู่เยาวชนและสังคมโลก

        การถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในสมัยโบราณใช้การบันทึกและการอบรมสั่งสอนคัมภีร์ใบลานสมุดข่อย หรือ อื่นๆ ที่เคยใช้สืบทอด พระไตรปิฎก ตำรายา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ปัจจุบันแม้จะไม่ใช้กันแล้ว แต่ยังคงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า นำมากล่าวถึง หรือ อ้างอิง ได้ และมีการอนุรักษ์ไว้อย่างเหมาะสม แต่การอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง จากอดีตมาสู่ปัจจุบันยังคง ดำเนินต่อไป

        ในขณะที่กระแสของความรู้ และวัฒนธรรมนานาชาติกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยเช่นในปัจจุบันนี้ ผู้ที่รับและคล้อยตาม กระแสดังกล่าวได้ง่ายมักเป็นเยาวชน ซึ่งอยู่ในวัยที่พร้อมแก่การรับสิ่งใหม่ๆ นิสิตนักศึกษาต่างก็เป็นเยาวชนเช่นกัน จะแตกต่างออก ไปบ้างตรงที่มีศักยภาพสูงในการรับข้อมูลมีความสามารถการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และถ่ายทอดข้อมูลหรือความรู้เหล่านั้นสู่สังคมไทย และสังคมโลก ดังนั้นการให้ความรู้และประสบการณ์ในวิถีชีวิตแบบไทย แก่นิสิตนักศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ เกิดความสนใจใฝ่รู้ในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทยด้านต่างๆ และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย ภาควิชา พฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอน วิชา 2305107 โลกพืช และวิชา 2305103 พืชเพื่อการเสริม สร้างคุณภาพชีวิต ให้กับนิสิตทุกคณะ โดยผ่านทางโครงการศึกษาทั่วไป วิชาโลกพืชนั้นมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติ และตระหนัก ถึงคุณค่าของพืชในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีความรักธรรมชาติ ปรารถนาจะรักษาสิ่งแวดล้อมและใฝ่ใจในการอนุรักษ์ สำหรับวิชา พืชเพื่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนั้น มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนได้ทราบถึงบทบาทของพืชในชีวิตประจำวันทุกแง่มุม ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความบันเทิง และสุนทรียภาพต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจใน ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาของไทยจากการที่นิสิตได้เรียนรู้ทฤษฎี ทำกิจกรรม และเสริมประสบการณ์ ด้วยการศึกษาดูงาน นอกสถานที่ แล้วสิ่งที่ได้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนอาจสรุปได้ดังนี้

1. นิสิตมีความภูมิใจในทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาไทย
2. นิสิตเห็นความสำคัญของระบบนิเวศ
3. นิสิตตระหนักถึงความสัมพันธ์ของพืชที่มีต่อชีวิตประจำวัน และซาบซึ้งในความสำคัญของพืช อย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน
4. นิสิตหันมานิยมอาหาร เครื่องดื่ม ผักผลไม้ในประเทศที่มีผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลผลิตจากเกษตรธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมี
5. นิสิตให้ความสำคัญกับสมุนไพรไทยมากขึ้นอย่างเห็นชัดเจน มีการนำไปแนะนำกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
6. นิสิตสนใจที่จะศึกษาวิจัยในเรื่องสมุนไพรไทย การใช้ประโยชน์จากพืช และการขยายพันธุ์พืช
7. นิสิตมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากการเรียน      และการดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกษตรพอเพียง และทฤษฎีใหม่

        นิสิตนักศึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอนาคต หากเยาวชนเหล่านี้ตระหนักถึงคุณค่า ของความเป็นไทยในทุกๆ ด้านของวิถีชีวิต แล้ว สติปัญญา ความสามารถ และสำนึกที่ดีจะทำให้เขารักษาความเป็นไทยไว้ได้ตลอดไปไม่ว่ากระแสนานาชาติจะแรงเพียงใด นอกจากนั้นยังอาจนำความเป็นไทย วิถีชีวิตแบบไทยๆ สวนกระแสไปสู่สังคมโลก ให้สังคมโลกยอมรับคุณค่าได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
1. กองโภชนาการ. 2542. การกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. กรุงเทพฯ.
2. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. 2542.พืชถิ่นเดียวและพืชหายากในประเทศไทย. สำนักนายกรัฐมนตรี. สำนักพิมพ์อาร์ต อิน โปรดักชั่น. กรุงเทพฯ.
3. อบฉันท์ ไทยทอง. 2543. กล้วยไม้เมืองไทย. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). กรุงเทพฯ.
4. อรไท ผลดี. 2535.พรรณพืชที่ใช้ทำเครื่องดนตรีไทยโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทย. เอกสารวิชาการเสนอ ใน การสัมนาเรื่องปัญหาในการผลิต เครื่องดนตรีไทย. คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย