สรุปการประชุมเครือข่ายกล้วยไม้ไทย

 

วันพุธที่ 24 มีนาคม 2547

ณ ห้องประชุม 103 อาคารแถบ นีละนิธิ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้รายงานผลสรุปการประชุม

นายสันติ วัฒฐานะ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และพิพิธภัณฑ์พืช มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน เดนมาร์ก

นางสาวสุชาดา วงศ์ภาคำ หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้จัดการประชุม

หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย และภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หลักการและเหตุผล

ในประเทศไทยกำลังมีผู้สนใจศึกษากล้วยไม้กันมาก ทั้งที่เป็นนักวิชาการและผู้สมัครเล่น แต่ปัจจุบันการติดต่อประสานงานระหว่างผู้ที่กำลังศึกษาและสนใจที่จะศึกษากล้วยไม้ไทยยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เกิดการศึกษาไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นทาง ดร.อบฉันท์ ไทยทอง ผู้เชี่ยวชาญจำแนกกล้วยไม้ไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Dr.Henrik Pedersen ผู้ประสานงานการจัดทำพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย วงศ์กล้วยไม้ ฝ่ายต่างประเทศ จากพิพิธภัณฑ์พืช มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก และดร.สมราน สุดดี ผู้ประสานงานการจัดทำพรรณพฤกษชาติของประไทย วงศ์กล้วยไม้ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้มีความคิดริเริ่มในการจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างผู้ที่กำลังศึกษาและสนใจกล้วยไม้ไทยในสาขาต่างๆ เพื่อระดมความคิดในการจัดตั้งเครือข่ายที่จะเป็นสื่อกลาง ในการประสานความร่วมมือทางวิชาการและการอนุรักษ์ และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการของกล้วยไม้ป่าในประเทศไทยต่อไป

 

สรุปผลการประชุม

1. ชื่อเครือข่ายใช้ชื่อว่า เครือข่ายกล้วยไม้ไทย (Native Thai Orchid Network)

 

2. วัตถุประสงค์ของเครือข่ายมีดังนี้

2.1 เพื่อเป็นศูนย์การประสานความร่วมมือในการศึกษาและอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยระหว่างกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจทางวิชาการของกล้วยไม้ป่าของไทย

2.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ความรู้และข้อมูลทางวิชาการของกล้วยไม้ป่าในประเทศไทย

 

3. วิสัยทัศน์

เป็นศูนย์กลางและสนับสนุนข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าในประเทศไทย

 

4. รูปแบบการดำเนินงาน

มีเป้าหมายชัดเจนที่งานวิชาการและการอนุรักษ์ และไม่มีนโยบายเชิงพาณิชย์ มุ่งเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการพื้นฐานเพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน

 

5. กิจกรรมของเครือข่าย

5.1 จัดทำทำเนียบนักวิจัยและฐานข้อมูลงานวิจัยด้านกล้วยไม้ในประเทศไทย

5.2 จัดทำจดหมายข่าวเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิก โดยในช่วงแรกคาดว่าน่าจะออกปีละ 2 ครั้ง ส่งไปยังสมาชิกโดยผ่านทาง e-mail

5.3 จัดทำ Homepage ของเครือข่าย ในช่วงแรกฝากไว้กับ website ของหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีโครงการเชื่อมโยงกับ website ระพี สาคริก, website หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ website สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยมีคุณสุชาดา วงศ์ภาคำ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำ website ชั่วคราว

 

6. คุณสมบัติของสมาชิก

6.1 นักวิชาการ นักศึกษาที่สนใจ หรือเคย/กำลังศึกษา และทำงานทางด้านอนุกรมวิธาน และระบบการจัดจำแนก ชีววิทยา นิเวศวิทยา พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงพันธุ์กล้วยไม้ป่า และการอนุรักษ์

6.2 ผู้สมัครเล่นที่สนใจในงานวิชาการกล้วยไม้ รวมถึงนักวาดภาพ และช่างภาพกล้วยไม้ ฯลฯ

 

7. ผู้ประสานงานเครือข่าย

7.1 ทางด้านอนุกรมวิธาน ได้แก่ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Dr. Henrik Pedersen จากพิพิธภัณฑ์พืช มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก และ ดร.สมราน สุดดี จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ

7.2 ทางด้านการอนุรักษ์ ได้แก่ ดร.สุญานี เวสสบุตร จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

7.3 ทางด้านการเพาะเลี้ยง ได้แก่ ผศ.จิตราพรรณ พิลึก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

7.4 ผู้ประสานงานทั่วไปของเครือข่าย ยังไม่ได้กำหนดอย่างเป็นทางการ แต่สามารถติดต่อไปยัง นายสันติ วัฒฐานะ จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และพิพิธภัณฑ์พืช มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก

 

8. ผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งสิ้น 45 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สมัครเล่น รายละเอียดดังตารางแนบท้าย

 

แบบสอบถาม

มีผู้ส่งแบบสอบถามกลับมา 33 ท่าน สรุปผลการสำรวจว่าภายหลังจากการประชุมครั้งนี้มีความต้องการในด้านต่างๆ ดังนี้

1. การประชุมเชิงปฏิบัติการ

- อนุกรมวิธาน     24

- สรีรวิทยา     9

- พันธุศาสตร์     6

- นิเวศวิทยา     14

- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ     7

- การปรับปรุงพันธุ์     10

- อื่นๆ     1  (มีผู้เสนอว่าอาจเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อย แล้วแต่ความสนใจของคนส่วนใหญ่ ควรจัดปีละ 1-2 ครั้ง)

2. จดหมายข่าว     28 (มีผู้เสนอว่าควรออกปีละ 3 ครั้ง)

3. การประชุมสัมมนาตามวาระที่เหมาะสม

- 6 เดือน/ครั้ง     19

- 1 ปี/ครั้ง     14

4. การร่วมศึกษาภาคสนาม 25

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ

- ศึกษาดูงานในพื้นที่ๆมีการศึกษากล้วยไม้ไทยทุกภาค และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ติดตามผล เพื่อให้มีความเคลื่อนไหวของผู้สนใจกล้วยไม้ไทยตลอด ไม่ควรให้เลือนหายไป

- (ควรมี)การประชุมกลุ่มย่อย การจัดทำแผนการศึกษาวิจัย หรือแนวทางการวิจัยกล้วยไม้

- จัดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กล้วยไม้ไทย

- เรียนเชิญ รศ.ดร.อบฉันท์ ไทยทองซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกล้วยไม้ของไทย น่าจะมีการให้ความรู้กล้วยไม้หายากในไทย ในการประชุมครั้งต่อไป

- ควรจะมีจิตรกรที่มีฝีมือและสนใจกล้วยไม้แทน อ.เอกชัย อ๊อดอำไพ มาร่วมด้วย เพราะจะช่วยให้งาน monograph ดูเหมือนจริงมากขึ้น หรือคนที่มีฝีมือในงานวาดรูป

- (ควร)เผยแพร่ความรู้ด้านพันธุกรรมกล้วยไม้ไทย / กล้วยไม้ที่มีการปรับปรุงพันธุ์ และการบำรุงรักษาเพื่อการขยายพันธุ์ และการอนุรักษ์ด้านพันธุกรรมดั้งเดิม สู่ประชาชนและนักวิชาการกลุ่มอื่นบ้าง

- สามารถจัดประชุมอบรมการวาดภาพกล้วยไม้ สำหรับประชาชนทั่วไป หรือนักเรียนนิสิตนักศึกษา โดยให้มีการแนะนำด้านพฤกษศาสตร์ด้วย เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องกล้วยไม้ไทยให้แพร่หลาย

- ควรมีการประชุม 6 เดือน/ครั้ง และค่อยๆเพิ่มเนื้อหาเข้าสู่วัตถุประสงค์หลัก เพื่อการเข้าใจร่วมกันยิ่งขึ้น และง่ายต่อการประสานงาน เพราะเป็นการประชุมครั้งแรก

- ควรมีการส่งข่าวถึงกันบ่อยๆ โดยจัดให้มีจดหมายข่าว หรือติดต่อทาง e-mail

- น่าจะมีการอภิปรายถึงกล้วยไม้ไทยกับกฎหมาย หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น CITES, CBD เป็นต้น

- ต้องการ Database ด่วนค่ะ (1)ทำเนียบ Orchid experts (2)งานวิจัยเกี่ยวกับกล้วยไม้ระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา

- เห็นด้วยกับการจัดทำคู่มือกล้วยไม้ไว้ศึกษาและจำแนกชนิดของกล้วยไม้ในธรรมชาติ รวมทั้งการมีเครือข่ายในการส่งกลับข้อมูลกล้วยไม้ที่พบมายังเครือข่ายเพื่อช่วยให้ข้อมูลด้านนี้สมบูรณ์มากขึ้น

- อยากให้มีการจัดตั้งเป็นชมรม และมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอด เพื่อความก้าวหน้าของวงการกล้วยไม้ไทยต่อไป

 

 

 

 

ดาวน์โหลดไฟล์ word

 
     
     
     
 

     

 
 

     

 
 

 

จัดทำโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

PLANT OF THAILAND RESEARCH UNIT,  DEPARTMENT OF BOTANY,  FACULTY OF SCIENCE,  CHULALONGKORN UNIVERSITY

last updated 30/10/2547