ความรู้เสริมเกี่ยวกับป่า และสิ่งแวดล้อม

 

สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

       สิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็นลักษณะกว้าง ๆ ได้ 2 ส่วนคือ

 

·        สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร

 

 

 

·        สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 


ความหมายของนิเวศวิทยา

คำว่า Ecology ได้รากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ Oikos หมายความถึง "บ้าน" หรือ "ที่อยู่อาศัย" และ Ology หมายถึง "การศึกษา" Ecology หรือนิเวศวิทยา จึงเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยการศึกษาสิ่งมีชีวิต ในแหล่งอาศัยและกินความกว้างไปถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

 

ความหมายของระบบนิเวศ

ระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กับบริเวณแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ ระบบนิเวศนั้นเป็นแนวคิด (concept) ที่นักนิเวศวิทยาได้นำมาใช้ในการมองโลกส่วนย่อย ๆ ของโลกเพื่อที่จะได้เข้าใจความเป็นไปบนโลกนี้ได้ดีขึ้น

ระบบนิเวศหนึ่ง ๆ นั้น ประกอบด้วยบริเวณที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ และกลุ่มประชากรที่มีชีวิตอยู่ในบริเวณดังกล่าว พืชและโดยเฉพาะสัตว์ต่าง ๆ ก็ต้องการบริเวณที่อยู่อาศัยที่มีขนาดอย่างน้อยที่สุดที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อว่าการมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น สระน้ำแห่งหนึ่งเราจะพบสัตว์และพืชนานาชนิด ซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริเวณน้ำที่มันอาศัยอยู่โดยมีจำนวนแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด สระน้ำนั้นดูเหมือนว่าจะแยกจากบริเวณแวดล้อมอื่น ๆ ด้วยขอบสระ แต่ตามความเป็นจริงแล้วปริมาณน้ำในสระสามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยน้ำฝนที่ตกลงมา ในขณะเดียวกันกับที่ระดับผิวน้ำก็จะระเหยไปอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลเข้ามาเพิ่มก็จะพัดพาเอาแร่ธาตุและชิ้นส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เน่าเปื่อยเข้ามาในสระตัวอ่อนของยุงและลูกกบตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในสระน้ำ แต่จะไปเติบโตบนบก นกและแมลงซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกสระก็จะมาหาอาหารในสระน้ำ การไหลเข้าของสารและการสูญเสียสารเช่นนี้จึงทำให้สระน้ำเป็นระบบเปิดระบบหนึ่ง

หากมีแร่ธาตุไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การเจริญเติบโตของพืชเพิ่มมากขึ้น เช่น ไฟโตแพลงตันหรือพืชน้ำที่อยู่ก้นสระ ปริมาณสัตว์จึงเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อปริมาณสัตว์เพิ่ม ปริมาณของพืชที่เป็นอาหารก็จะค่อย ๆ น้อยลง ทำให้ปริมาณสัตว์ค่อย ๆ ลดตามลงไปด้วยเนื่องจากอาหารมีไม่พอ ดังนั้นสระน้ำจึงมีความสามารถในการที่จะควบคุมตัวของมัน (Self-regulation) เองได้ กล่าวคือ จำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในสระน้ำจะมีจำนวนคงที่ ซึ่งเราเรียกว่ามีความสมดุล

สระน้ำนี้ จึงเป็นหน่วยหนึ่งของธรรมชาติที่เรียกว่า "ระบบนิเวศ" (Ecosystem) ซึ่งกล่าวได้ว่าระบบนิเวศหนึ่ง ๆ นั้น เป็นโครงสร้างที่เปิดและมีความสามารถในการควบคุมตัวของมันเอง ประกอบไปด้วยประชากรต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ไร้ชีวิต ระบบนิเวศเป็นระบบเปิดที่มีความสัมพันธ์กับบริเวณแวดล้อมโดยมีการแลกเปลี่ยนสาร และพลังงาน ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวชุมชนที่มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ใช้ชีวิตนั้นรวมกันเป็นระบบนิเวศ

ระบบนิเวศอาจมีขนาดใหญ่ระดับโลก คือ ชีวาลัย (biosphere) ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่อหุ้มโลกอยู่และสามารถมีขบวนการต่าง ๆ ของชีวิตเกิดขึ้นได้หรืออาจมีขนาดเล็กเท่าบ่อน้ำแห่งหนึ่ง แต่เราสามารถจำแนกระบบนิเวศออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ ดังนี้

1.       ระบบนิเวศทางธรรมชาติและใกล้ธรรมชาติ (Natural and seminatural ecosystems) เป็นระบบที่ต้องพึ่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะทำงานได้

1.1 ระบบนิเวศแหล่งน้ำ (Aguative cosystems)

1.1.1 ระบบนิเวศทางทะเล เช่น มหาสมุทรแนวปะการัง ทะเลภายในที่เป็นน้ำเค็ม
1.2 ระบบนิเวศบนบก (Terresttrial ecosystems)

1.2.1 ระบบนิเวศกึ่งบก เช่น ป่าพรุ

1.2.2 ระบบนิเวศบนบกแท้ เช่น ป่าดิบ ทุ่งหญ้า ทะเลทราย

2.       ระบบนิเวศเมือง-อุตสาหกรรม (Urbanindustral ecosystems)
เป็นระบบที่ต้องพึ่งแหล่งพลังงานเพิ่มเติม เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง พลังนิวเคลียร์ เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใหม่

3.       ระบบนิเวศเกษตร (Agricultural ecosystems)
เป็นระบบที่มนุษย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางธรรมชาติขึ้นมาใหม่

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบของระบบนิเวศ

ระบบนิเวศทุก ๆ ระบบจะมีโครงสร้างที่กำหนดโดยชนิดของสิ่งมีชีวิตเฉพาะอย่าง ที่อยู่ในระบบนั้น ๆ โครงสร้างประกอบด้วยจำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้ และการกระจายตัวของมันถึงแม้ว่าระบบนิเวศบนโลกจะมีความหลากหลายแต่มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันคือ ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ

1.       ส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic component) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.1 อนินทรียสาร เช่น คาร์บอนไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและออกซิเจน เป็นต้น

1.2 อินทรียสาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และฮิวมัส เป็นต้น

1.3 สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น แสง อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง ความ เค็มและความชื้น เป็นต้น

2.       ส่วนประกอบที่มีชีวิต (Biotic component) แบ่งออกได้เป็น

2.1 ผู้ผลิต (producer) คือ พวกที่สามารถนำเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสังเคราะห์ อาหารขึ้นได้เอง จากแร่ธาตุและสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ พืชสีเขียว แพลงค์ตอนพืช และแบคทีเรียบางชนิด พวกผู้ผลิตนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนเริ่มต้นและเชื่อมต่อระหว่างส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิตกับส่วนที่มีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศ

2.2 ผู้บริโภค (consumer) คือ พวกที่ได้รับอาหารจากการกินสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ อีกทอด หนึ่งได้แก่พวกสัตว์ต่าง ๆ แบ่งได้เป็น

ผู้บริโภคปฐมภูมิ (primary consumer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น กระต่าย วัว ควาย และปลาที่กินพืชเล็ก ๆ ฯลฯ

ผู้บริโภคทุติยภูมิ (secondary consumer) เป็นสัตว์ที่ได้รับอาหารจากการกินเนื้อสัตว์ที่ กินพืชเป็นอาหาร เช่น เสือ สุนัขจิ้งจอก ปลากินเนื้อ ฯลฯ

ผู้บริโภคตติยภูมิ (tertiauy consumer) เป็นพวกที่กินทั้งสัตว์กินพืช และสัตว์กินสัตว์ นอกจากนี้ยังได้แก่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับขั้นการกินสูงสุดซึ่งหมายถึงสัตว์ที่ไม่ถูกกินโดยสัตว์อื่น ๆ ต่อไป เป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับสุดท้ายของการถูกกินเป็นอาหาร เช่น มนุษย์

2.3 ผู้ย่อยสลาย (decomposer) เป็นพวกไม่สามารถปรุงอาหารได้ แต่จะกินอาหารโดย การผลิตเอนไซน์ออกมาย่อยสลายแร่ธาตุต่าง ๆ ในส่วนประกอบของสิ่งที่มีชีวิตให้เป็นสารโมเลกุลเล็กแล้วจึงดูดซึมไปใช้เป็นสารอาหารบางส่วน ส่วนที่เหลือปลดปล่อยออกไปสู่ระบบนิเวศ ซึ่งผู้ผลิตจะสามารถเอาไปใช้ต่อไป จึงนับว่าผู้ย่อยสลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สารอาหารสามารถหมุนเวียนเป็นวัฏจักรได้

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

ความสมดุลของระบบนิเวศ

คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของระบบนิเวศ คือ มีกลไกในการปรับสภาวะตัวเอง (selfregulation) โดยมีรากฐานมาจากความสามารถของ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศนั้น ๆ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลายในการทำให้ เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารผ่านสิ่งมีชีวิต ถ้าระบบนิเวศนั้นได้รับพลังงานอย่างพอเพียง และไม่มีอุปสรรคขัดขวางวัฏจักรของธาตุอาหาร แล้ว ก็จะทำให้เกิดภาวะสมดุล equilibrium ขึ้นมาในระบบนิเวศนั้น ๆ โดยมีองค์ประกอบและความสัมพันธ์ ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดทำให้แร่ธาตุ และสสารกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง มาก ซึ่งทำให้ระบบนิเวศนั้นมีความคงตัว ทั้งนี้เพราะการผลิตอาหารสมดุลกับการบริโภคภาย ในระบบนิเวศนั้นการปรับสภาวะตัวเองนี้ ทำให้การผลิตอาหารและการเพิ่มจำนวนของ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนั้นมีความพอดีกัน กล่าวคือจำนวนประชากรชนิดใด ๆ ในระบบนิเวศจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขอบเขตได้

ธรรมชาติได้ให้สิ่งที่สวยงาม ร่มรื่น นอกเหนือจากปัจจัย 4 ที่มนุษย์ได้รับ

ถ้าในระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตบางชนิดถูกทำลายไปจะทำให้ความสมดุลของระบบนิเวศลดลง เช่น บริเวณทุ่งหิมะและขั้วโลกเป็นระบบนิเวศที่ง่ายและธรรมดาไม่ซับซ้อน เพราะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่กี่ชนิด พืชก็ได้แก่ ตะไคร่น้ำ ไลเคน หญ้าชนิดต่าง ๆ เพียงไม่กี่ชนิดและต้นหลิว พืชเหล่านี้เป็นอาหารของกวาง ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ กวางคาริเบียนกับกวางเรนเดีย กวางเป็นอาหารของสุนัขป่าและคน นอกจากนี้ ก็มีหนูนาและไก่ป่า ซึ่งเป็นอาหารของสุนัขจิ้งจอกและนกเค้าแมว เพราะฉะนั้นในบริเวณหิมะนี้ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนของสิ่งมีชีวิตในระดับหนึ่ง จะมีผลรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิต ในระดับอื่น ๆ ด้วยเพราะมันไม่มีโอกาสเลือกอาหารได้มาก นักสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในนี้จึงเปลี่ยนแปลงเร็ว จนบางชนิดสูญพันธุ์ ดังนั้นระบบนิเวศที่ไม่ซับซ้อนจึงเสียดุลได้ง่ายมากเหมือนกับการปลูกพืชชนิดเดียว (monocropping) เช่น การเกษตรสมัยปัจจุบันเวลาเกิดโรคระบาดจะทำให้เสียหายอย่างมากและรวดเร็ว

แม่น้ำที่มีวัชพืชน้ำมาก จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับการรักษาความสมดุลของระบบธรรมชาติ
และกีดขวางการจราจรทางน้ำ

 


ที่มา : รวบรวมจาก หนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

อิทธิพลของมนุษย์ต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ

ในสมัยก่อนที่ประชากรของมนุษย์บนโลกยังมีจำนวนเพียงเล็กน้อยนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างไร แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาวิถีชีวิตด้วยเทคโนโลยีให้มีความเป็นอยู่สุขสบายดี การบุกรุกสภาพสมดุลของธรรมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

ปัจจุบันนี้มนุษย์มักจะทำให้ระบบนิเวศในโลกนี้เป็นระบบนิเวศที่ธรรมดา โดยเฉพาะการเกษตรในปัจจุบันได้พยายามลดระดับต่าง ๆ ในห่วงโซ่อาหารให้เหลือน้อยที่สุด โดยการกำจัดพืชและหญ้าหลายชนิดไปเพื่อพืชชนิดเดียว เช่น ข้าวสาลี หรือข้าวโพด ซึ่งทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ความมั่นคงระบบนิเวศลดน้อยลง หากมีโรคระบาดเกิดขึ้น โอกาสที่ระบบนิเวศจะถูกทำลายก็จะมีมาก

นอกจากนั้น บริเวณการเกษตรทั่วโลกก็นับเป็นบริเวณที่ระบบนิเวศถูกทำลายมาก ทั้งนี้เพราะมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลาย สารพิษที่เกิดจากการเกษตรและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดไปยังสิ่งมีชีวิตระดับสูง ๆ ได้ตามห่วงโซ่อาหาร จึงมักสะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตในปริมาณที่เข้มข้นกว่าที่มีในสิ่งแวดล้อมเสมอ ดังตัวอย่างของการใช้ DDT

เมื่อมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชในบริเวณที่หนึ่ง DDT ซึ่งเป็นส่วนผสมของยากำจัดศัตรูพืชนั้น จะตกค้างอยู่ในดินถูกชะล้างลงในแม่น้ำและสะสมอยู่ในแพลงค์ตอน เมื่อสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น ปลามากินแพลงค์ตอน DDT ก็จะเข้าไปสะสมในตัวปลาเป็นปริมาณมากกว่าที่อยู่ในแพลงค์ตอนและเมื่อนกซึ่งกินปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ เข้าไป ก็จะสะสมไว้ในปริมาณสูง เมื่อสัตว์อื่นมากินนกก็ยิ่งจะทำให้การสะสม DDT ในตัวมันสูงมากขึ้นไปอีก ถ้า DDT สูงขึ้นถึงขีดอันตรายก็จะทำให้สัตว์ตายได้หรือไม่ก็ผิดปกติ DDT ส่วนใหญ่จะสะสมในเนื้อเยื่อไขมันและขัดขวางการเกาะตัวของ แคลเซี่ยมที่เปลือกไข่ทำให้ไข่บางแตกง่ายและไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้มีรายงานว่าในประเทศสวีเดน และในประเทศญี่ปุ่นมีนกบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากผลกระทบสะสมตัวของ DDT

การพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดผลเสียหายร้ายแรง ทั้งต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนทำให้เกิดบริเวณน้ำขังจำนวนมหาศาลอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคเนื่องจากพาหะของโรคนั้นสามารถเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำนิ่ง

ปัจจุบันปะการังได้ถูกทำลาย เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยว วิธีการที่จะดำเนินการฟื้นฟูวิธีการหนึ่ง โดยการสร้างปะการังเทียม โดยนำยางรถยนต์ไปไว้ใต้ทะเลให้ปะการังอาศัยเกาะอยู่ เพื่อให้มีส่วนปรับระบบนิเวศในท้องทะเล

ชีวาลัย (Biosphere) เป็นส่วนหนึ่งของโลก ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ได้แก่ บริเวณที่เป็นมหาสมุทรน้ำจืด บรรยากาศและชั้นดินบางส่วนมีผู้เปรียบเทียบว่าถ้าให้โลกของเราสูงเท่ากับตึก 8 ชั้น ชีวาลัย (Biosphere) จะมีความหนาเพียงครึ่งเท่านั้นซึ่งแสดงว่าบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้นั้นบางมาก ทรัพยากรธรรมชาติจึงมีจำกัดเกินกว่าที่เราคาดหมายไว้ มนุษย์เองเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของชีวาลัยซึ่งยังต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ในชีวาลัย เพื่อมีชีวิตรอดมนุษย์อาจจะเปลี่ยนหรือทำลายระบบนิเวศระบบใดได้ แต่มนุษย์จะไม่สามารถทำลายชีวาลัยได้ เพราะเท่ากับเป็นการทำลายตนเอง

ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องนิเวศวิทยา จึงเป็นการทำให้มนุษย์ได้เข้าใจถึงฐานะ และหน้าที่ของตัวเองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบเท่านั้น การกระทำใด ๆ ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมมีผลเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในระบบด้วยเช่นเดียวกับที่มีผลต่อมนุษย์เอง

ดังนั้นเราจึงควรตระหนักว่าในการพัฒนาใด ๆ ของมนุษย์ที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นวัตถุดิบนั้นเราจะต้องคำนึงถึงปัญหาการเสียสมดุลทางนิเวศวิทยาด้วย เพื่อไม่ให้การพัฒนานั้นย้อนกลับมาสร้างปัญหาต่อมนุษย์เองไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะมลพิษหรือการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลย์ของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้น ๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลย์ของตัวเองได้

กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น

·        ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ

·        ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา

·        ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม


สาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

1. การเพิ่มของประชากร (Population growth) ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน

2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Economic Growth & Technological Progress) ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น

 


ที่มา : รวบรวมจากหนังสือเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้

นับเป็นความน่าพิศวงอันหนึ่งของโลกเราที่มีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด โดยใช้เวลาวิวัฒนาการมานานนับหลายร้อยล้านปี ความหลากหลายของสรรพสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) นี้ เป็นทรัพยากรที่มิอาจประเมินค่าได้ตลอดระยะเวลาที่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ถือกำเนิดและมีวิวัฒนาการมาราว 600 ล้านปี ความหลากหลายทางชีวภาพอันได้แก่ สรรพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้ เพิ่มขึ้นตลอดมา มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเหล่านี้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ทั้งมวล การใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตในบางธุรกิจในบางประเทศ เช่น เป็นยารักษาโรคนั้น มีมูลค่าแต่ละปีหลายแสนล้านบาท แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งมีชีวิตในโลกกำลังถูกคุกคาม และจะสูญพันธุ์ไป เชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักด้วยซ้ำไป

ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร

คนมักเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพก็คือการมีสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิด ชนิดในที่นี้ก็คือสปีชีส์ (species) ความจริงแล้วความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ

o    ความหลากหลายในเรื่องชนิด (Species Diversity)

o    ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic Diversity)

o    ความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

ความหลากหลายในเรื่องชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นหมายถึงความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (Species) ที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความหมายอยู่ 2 แง่ คือ

o    ความมากชนิด (Species richness)

o    ความสม่ำเสมอของชนิด (species evenness)

ความมากชนิดก็คือ จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อหน่วยเนื้อที่ ส่วนความสม่ำเสมอของชนิดหมายถึงสัดส่วนของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในที่นั้น ในพื้นที่หนึ่ง ๆ จะมีความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (species diversity) มากที่สุดก็ต่อเมื่อมีจำนวนสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดและแต่ละชนิดมีสัดส่วนเท่า ๆ กัน ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตนั้นแตกต่างไปตามพื้นที่ ในเมืองหนาว เช่น ไซบีเรีย หรือแคนาดา ในเนื้อที่ 1 เฮกเตอร์ (100 x 100 .) มีต้นไม้เพียง 1 ถึง 5 ชนิดเท่านั้น ส่วนในป่าเต็งรังของไทย มีต้นไม้ 31 ชนิด ป่าดิบแล้ง 54 ชนิด และในป่าดิบชื้นมีอยู่นับร้อยชนิด ความสม่ำเสมอของชนิดสิ่งมีชีวิต (species evenness) นั้นอาจเข้าใจได้ยากแต่พอที่จะยกตัวอย่างได้ เช่น มีป่าอยู่ 2 แห่ง แต่ละแห่งมีต้นไม้จำนวน 100 ต้น และมีอยู่ 10 ชนิดเท่ากัน แต่ป่าแห่งแรกมีต้นไม้ชนิดละ 10 ต้น เท่ากันหมด ส่วนป่าแห่งที่ 2 มีต้นไม้ชนิดหนึ่งมากถึง 82 ต้น อีก 9 ชนิดที่เหลือ มีอยู่อย่างละ 2 ต้น ถึงแม้ว่าทั้งสองจะมีจำนวนต้นไม้เท่ากันและมีจำนวนชนิดต้นไม้เท่ากันด้วย แต่ป่าแห่งแรกเมื่อเข้าไปดูแล้วจะมีความรู้สึกว่าหลากหลายกว่าป่าแห่งที่สอง

 

ความหลากหลายของพันธุกรรม

หมายถึงความหลากหลายของยีนส์ (genes) ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจมียีนส์แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ข้าวมีสายพันธุ์นับพันชนิด มันฝรั่ง หรือพืชอาหารชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด มัน พริก ก็มีมากมายหลายสายพันธุ์ ความหลากหลายของพันธุกรรมมีน้อยในพืชเกษตรลูกผสม เช่น ข้าวโพดที่ได้คัดพันธุ์เพื่อต้องการลักษณะพิเศษบางอย่าง ฐานพันธุกรรมของพืชเกษตรที่ได้คัดพันธุ์เหล่านี้จะแคบ ซึ่งไม่เหมือนกับพืชป่าที่ปรับปรุงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติในที่ต่าง ๆ กัน ความหลากหลายของยีนส์จึงมีมากในที่ป่า ความหลากหลายของยีนส์นั้นมีคุณค่ามหาศาล นักผสมพันธุ์พืชได้ใช้ข้าวป่าสายพันธุ์ป่ามาปรับปรุงบำรุงพันธุ์ เช่น ได้ใช้ข้าวป่าในอินเดียมาปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานศัตรูพืช เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น ข้าวโพดป่าก็เช่นกันได้ใช้ปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานโรคซึ่งก็ช่วยเพิ่มผลผลิต สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด แต่ละตัวก็มียีนส์แตกต่างกันไป
สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่ถูกทำลาย ทำให้มีจำนวนลดน้อยลง ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็สูญหายไป เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่ง ความหลากหลายของระบบนิเวศนั้นมีอยู่ 3 ประเด็น คือ

o    ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ

o    การทดแทน

o    ภูมิประเทศ

ความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ (Habitat Diversity) ตัวอย่าง เช่น ในผืนป่าทางภาคตะวันตกของไทยที่มีลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจะพบถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมายคือตัวลำน้ำ หาดทราย ห้วยเล็กห้วยน้อยอันเป็นลำน้ำสาขา พรุซึ่งมีน้ำขัง ฝั่งน้ำ หน้าผา ถ้ำ ป่าบนที่ดอนซึ่งก็มีหลายประเภท แต่ละถิ่นกำเนิดก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่แตกต่างกันไป เช่น ลำน้ำ พบควาย ป่าหาดทรายมีนกยูงไทย หน้าผามีเลียงผา ถ้ำมีค้างคาว เป็นต้น เมื่อแม่น้ำใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ภายหลังการสร้างเขื่อนความหลากหลายของถิ่นกำเนิดก็ลดน้อยลง โดยทั่วไปแล้วที่ใดที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลากหลาย ที่นั้นจะมีชนิดสิ่งมีชีวิตหลากหลายตามไปด้วย สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาศัยถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายรูปแบบ เช่น กระทิง วัวแดง บางครั้งก็หากินในทุ่งหญ้า บางครั้งก็หากินในป่าโปร่ง บางครั้งก็หากินในป่าดิบ มีการโยกย้ายแหล่งหากินไปตามฤดูกาล ตัวอ่อนแมลงที่อาศัยในน้ำอันเป็นอาหารสำคัญของปลา บางตอนของวงจรชีวิตของแมลงเหล่านี้ก็อาศัยอยู่บนบก ปลาบางชนิดตามลำน้ำก็อาศัยผลไม้ป่าเป็นอาหาร การทำลายป่าเป็นการทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำได้เช่นกัน การรักษาความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในที่หนึ่ง ๆ ให้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายประเภทอยู่ใกล้กันจะทำให้สิ่งมีชีวิตมีมากชนิดเพิ่มขึ้นด้วย

ความหลากหลายของการทดแทน (Successional Diversity)

ในป่านั้นมีการทดแทนของสัมคมพืช กล่าวคือเมื่อป่าถูกทำลายจะโดยวิธีใดก็ตาม เช่น ถูกแผ้วถาง พายุพัดไม้ป่าหักโค่น เกิดไฟป่า น้ำท่วม หรือแผ่นดินถล่ม เกิดเป็นที่โล่งต่อมาจะมีพืชเบิกนำ เช่น มีหญ้าคา สาบเสือ กล้วยป่า และเถาวัลย์ เกิดขึ้นในที่โล่งนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็มีต้นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วเกิดขึ้น เช่น กระทุ่มน้ำ ปอหูช้าง ปอตองแตบ นนทรี เลี่ยน เกิดขี้น และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรบกวนป่าดั้งเดิมก็จะกลับมาอีกครั้งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า การทดแทนทางนิเวศวิทยา (Ecological Succession) สิ่งมีชีวิตบางชนิดปรับตัวให้เข้ากับยุคต้น ๆ ของการทดแทน บางชนิดก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสุดท้าย ซึ่งเป็นป่าบริสุทธิ์ (virgin forest) ในทางภาคเหนือป่าดิบเขาเมื่อเกิดที่โล่ง เช่น ดินพัง หรือตามทางชักลากไม้ จะพบลูกไม้สนสามใบเกิดขึ้นมากมายตามพื้นดิน ในป่าทึบจะไม่พบลูกไม้สนเหล่านี้ ต้นกำลังเสือโคร่งก็เช่นเดียวกันคือชอบขึ้นตามที่โล่ง ในบริเวณป่าดิบเขาที่ไม่ถูกรบกวนจะไม่พบต้นไม้เหล่านี้ ในป่าดิบทางภาคใต้ในยุคต้นของการทดแทนจะพบต้นปอหูช้าง ปอตองแตบ กระทุ่มน้ำ ส้าน ลำพูป่า เป็นต้น ป่านั้นเป็นสังคมพืชที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการทดแทน กระบวนการทดแทนก่อให้เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นกปรอดหัวโขนมักพบตามป่าละเมาะ และทุ่งหญ้า ชอบทำรังตามไม้พุ่ม หรือต้นไม้ที่ไม่สูงใหญ่ ส่วนนกเงือกอยู่ตามป่าทึบหรือป่าบริสุทธิ์ดั้งเดิม

กระบวนการทดแทนตามธรรมชาติช่วยรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และบางทีก็เป็นประโยชน์กับชาวบ้านและเกษตรกร ตัวห้ำที่กินแมลงศัตรูพืชก็มักพบตามทุ่งหญ้าริมป่า พืชกินได้หลายชนิดพบตามป่ารุ่นสอง (secondary forest) หรือที่เรียกว่าป่าใส่ (ภาคใต้) หรือป่าเหล่า (อีสาน) นอกจากนี้ชาวบ้านป่าเหล่านี้ ยังเก็บหาฟืน ผลไม้ สมุนไพร และอาหารหลายชนิดจากป่ารุ่นสองเหล่านี้ นับเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ชาวบ้านป่าเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปปลูกสร้างสวนป่าขึ้นใหม่เสมอไป
ความหลากหลายของภูมิประเทศ (Lands scape Diversity) ในท้องที่บางแห่งมีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมาย เช่น ลำน้ำ บึง หาดทราย ถ้ำ หน้าผา ภูเขา หุบเขา ลานหิน และมีสังคมพืช ในหลาย ๆ ยุดของการทดแทน มีทุ่งหญ้าป่าโปร่งและป่าทึบ ที่เช่นนี้จะมีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายผิดกับในเมืองหนาวที่มีต้นไม้ชนิดเดียวขึ้นอยู่บนเนื้อที่หลายร้อยไร่มองไปก็เจอแต่ต้นไม้สนเพียงชนิดเดียว

 

ประเทศไทย - แหล่งหนึ่งของโลกที่มีทรัพยากรชีวภาพหลากหลาย

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ตั้งอยู่บนคาบสมุทร ภูเขาทางภาคเหนือเป็นเทือกเขาที่ติดต่อกับเทือกเขาหิมาลัย และมีทิวเขาทอดตัวลงทางใต้ เช่น เทือกเขาธงชัย เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่า นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราชทอดตัวลงทางใต้ลงไปถึงชายแดนจรดเทือกเขาสันกาลาคีรี ส่วนทางภาคกลางต่อภาคอีสานก็มีเทือกเขาเพชรบูรณ์เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นชายแดนไทยกัมพูชา

ประเทศไทยเป็นที่รวมของพรรณพืช 3 เขต คือ

(1) Indo-Burma

(2) Annmetic
(3) Melesia

ประเทศไทยเป็นที่รวมของพันธุ์สัตว์ 3 เขต คือ
(1) Sino-Himalayan
(2) Indo-Chinese
(3) Sundaic
ประเทศไทยเป็นรอยต่อระหว่างป่าดงดิบชื้นกับป่าผลัดใบเขตร้อนของโลก ในประเทศไทยสังคมพืชนั้นหลากหลาย อยู่ชิดติดต่อกันคล้ายโมเสค (Mosaic Vegetation) บ่อยครั้งที่พบว่าริมห้วยเป็นป่าดิบมีหวาย สูงขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบ และห่างออกไปไม่มากเป็นป่าเต็งรัง สูงขึ้นไปอีกนิดเป็นป่าดิบเขา สังคมพืชต่าง ๆ นี้อยู่ใกล้ชิดติดต่อกันจำนวนสิ่งมีชีวิตก็หลากหลายตามไปด้วย หรือบนภูเขาหินปูนแถบกาญจนบุรีบนด้านลาดทิศใต้เป็นป่าไผ่ ส่วนด้านลาดทิศเหนือเป็นป่าผลัดใบ มีไม้ตะแบกและไผ่รวมกัน แต่ตามริมห้วยและสันเขา เป็นป่าดงดิบ

 

ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

สิ่งมีชีวิตใช้เวลานานในการกำเนิดและวิวัฒนาการ ที่ใดมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่นั้นย่อมมีกระบวนการทางนิเวศวิทยาที่สลับซับซ้อน และมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสูง สิ่งมีชีวิตบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แพร่พันธุ์กว้างไกลไปทั่วโลก แต่มีมากมายหลายชนิดที่อยู่เฉพาะที่เฉพาะแห่งเท่านั้น ดังนั้น มุมต่าง ๆ ของโลกย่อมมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไป เช่น ป่าไม้สักพบเฉพาะในอินเดีย พม่า ไทย และลาวเท่านั้น เราเสียดายหากสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแล้ว หรือไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และไม่มีโอกาสวิวัฒนาการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกต่อไป ยิ่งในปัจจุบันเราสามารถถ่ายทอดยีนส์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ทำให้สูญเสียแหล่งยีนส์ที่มีลักษณะพิเศษ และมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติ

ความจริงแล้วการสูญพันธุ์นั้นเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในที่สุดก็จบลงด้วยการสูญพันธุ์เหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่องอัตราเร็วของการสูญพันธุ์ กล่าวคือภายใต้สภาพการณ์ตามธรรมชาติตลอดชั่วระยะเวลาที่โลกเราได้วิวัฒนาการมานั้นอัตราการสูญพันธุ์จะมีน้อยกว่าอัตราวิวัฒนาการเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ฉะนั้น ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตจึงมีเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ในอดีตหลายล้านปีมาแล้วอาจมีบางช่วงที่มีการสูญพันธุ์ขนานใหญ่เกิดขึ้นในโลกนี้ แต่ก็มีบางช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือภายหลังที่มนุษย์เราได้เจริญขึ้น เข้าสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรม มีการทำลายถิ่นกำเนิดธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตหลายอย่างโดยกิจกรรมที่เรียกว่าการพัฒนาอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีมากกว่า 1,000 เท่าของที่ควรจะเป็นในธรรมชาติ ขณะนี้สรรพสิ่งมีชีวิตของโลกได้ถูกทำลายสูญพันธุ์จนเหลือต่ำสุดในรอบ 65 ล้านปีที่ผ่านมา และอีก 20 ปีข้างหน้าจะสูญพันธุ์ไปถึง 1 ใน 4 ของที่เคยมีในปี พ.. 2525 การทำลายป่าเป็นเหตุที่สำคัญของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเพราะป่าไม้เป็นที่รวมของสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายและถ้าหากสิ่งมีชีวิตในโลกเรามีถึง 10 ล้านชนิดอัตราการทำลายป่าขณะนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกสูญพันธุ์ไปวันละ 50-150 ชนิด ซึ่งสูงกว่ายุคใด ๆ ที่ผ่านมา

สิ่งที่มนุษย์เราได้รับจากระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มากมาย ที่เห็นได้ชัดก็คือประโยชน์ทางตรง วัสดุธรรมชาติมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม สามในสี่ของประชากรในโลกนั้นใช้พืชสมุนไพรจากป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมีอุตสาหกรรมผลิตยาที่สกัดจากวัสดุธรรมชาติมูลค่านับแสนล้านบาท หนึ่งในสี่ของยาที่ใช้กันในสหรัฐในขณะนี้มีตัวยาที่สกัดจากพืช ยาที่สำคัญใช้กันมากในโลกนั้นพบครั้งแรกในพืช เช่น ควินิน แอสไพริน (จากเปลือกของต้นหลิว) ในเมืองจีนใช้สมุนไพรกว่า 5,100 ชนิด ส่วนในโซเวียตใช้พืชสมุนไพรมากกว่า 2,500 ชนิด องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น ยาปฏิชีวนะมากกว่า 3,000 ชนิด ก็สกัดมาจากราภายในดิน

มนุษย์เรานั้นพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ นอกจากได้ใช้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นยาดังกล่าวแล้ว อาหารทั้งหมดและวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ได้จากสิ่งมีชีวิตที่พบในธรรมชาติ หรือที่มนุษย์นำมาเพาะเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ที่บริโภคก็ได้จากธรรมชาติป่านั้นเป็นที่รวมสรรพสิ่งมีชีวิตไว้มากมาย พืชเกษตรหลายชนิดก็คือกำเนิดมาจากป่าไม่ว่าจะใช้เป็นอาหาร และเป็นไม้ดอกไม้ประดับก็ตาม ตลอดเวลา 50 ปี ที่ผ่านมาได้นำพืชป่าที่เป็นญาติของพืชเกษตรมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ ทำให้ผลผลิตของข้าว ฝ้าย อ้อย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวทำให้ผลผลิตมะเขือเทศเพิ่ม 3 เท่า ส่วนข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ทรัพยากรที่เป็นสิ่งมีชีวิตสามารถทำเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญได้เช่นกัน การท่องเที่ยวในอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านำเงินตราเข้าประเทศและทำให้เงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น

 

พื้นที่อนุรักษ์ (Protected Areas)

พื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่อนุรักษ์ควรเป็นหน่วยทางนิเวศวิทยาที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่พอเพียง มีหลาย ๆ กรณีที่นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นต้องการเนื้อที่ในการดำรงชีวิตที่ครอบคลุมถิ่นกำเนิดธรรมชาติหลายประเภทในการดำรงชีพซึ่งต้องการเนื้อที่มากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้ประกาศเสียอีก 88% ของนกป่าในประเทศไทยปรากฎอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพียง 7.8% เท่านั้น

พื้นที่อนุรักษ์ยิ่งมีขนาดเล็ก จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของแนวขอบป่า (edge effect) มาก อิทธิพลแนวขอบป่า (edge effect) ก็คืออัตราส่วนระหว่างระยะทางของแนวขอบป่ากับเนื้อที่ภายใน ตามแนวขอบป่าแสงสว่างจะส่องเข้าไปข้างในป่าได้มาก อากาศใกล้ผิวดินตามแนวขอบป่าก็ผันแปรมาก เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น พืชหลายชนิดได้ปรับตัวเองให้เข้าอยู่กับสภาพภายในป่า ตามขอบป่าอยู่ไม่ได้ การมีขอบป่ามาก ๆ มลพิษและคนอพยพเข้าไปทำลายได้ง่าย

พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีสภาพเป็นเกาะ อยู่ท่ามกลางป่าที่เสื่อมโทรม หรือท่ามกลางบริเวณที่ปลูกพืชไร่ การแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เช่น โดยการตัดถนน หรือโดยอ่างเก็บน้ำที่เป็นแนวยาว เกิดจากการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในที่สุด ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง พื้นที่ยิ่งมีขนาดเล็ก จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบจะมีจำนวนชนิดลดตามลงด้วย กฎง่าย ๆ ตามทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Theory of Island Biogeography) บอกว่า "ถ้าสูญเสียพื้นที่ไป 90% (มีเหลือเพียง 10%) ในที่สุดจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง" พื้นที่อนุรักษ์จึงไม่ควรต่ำกว่า 10% ความจริงโลกเรามีพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3.2% เท่านั้น

ป่าดั้งเดิมนั้นควรเป็นจุดศูนย์กลางของการอนุรักษ์แต่ป่าที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังป่าดั้งเดิมถูกทำลาย (secondary forest) นั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน ป่ารุ่นสองนี้บางทีเรียกว่าป่าเหล่า ป่าใส หรือไร่ทราก มีพันธุ์พืชและสัตว์หลายชนิดที่พบเฉพาะในป่ารุ่นสอง แต่ไม่พบในป่าดั้งเดิม มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในป่ารุ่นสองนี้มีพืชอาหาร และสมุนไพรที่เป็นประโยชน์หลายชนิดเปอร์เซ็นต์ พืชที่เป็นประโยชน์ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่พบในป่าดั้งเดิมเสียอีก ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ป่ารุ่นสองไว้เช่นเดียวกัน

การป้องกันรักษาป่าโดยวิธีจับกุมปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันเพื่อมุ่งลดความกดดันที่เกิดจากคนที่มีต่อป่า โดยให้คนผลิตอาหารพอเพียงต่อปากท้อง ดำรงชีพอยู่ได้ มีไม้ใช้สอยไม่ต้องเบียดเบียนจากป่าธรรมชาติ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ มีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการให้เขาทราบว่า การอนุรักษ์ป่านั้นก็เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่น และรัฐบาลด้วย

เมื่อพิจารณาในแง่สังคมและการเมืองแล้วการอนุรักษ์ป่าที่มีลักษณะเป็นเกาะอยู่ท่ามกลาง การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ยากจน มาตรฐานการครองชีพต่ำ และขาดแคลนทรัพยากรพื้นฐานโดยวิธีป้องกันปราบปราม 100% นั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในกรณีนี้จะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ 2 แบบ คือ บริเวณที่มีคนอยู่กับบริเวณที่ห้ามใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด รัฐเองก็มีทรัพยากร และกำลังคนไม่เพียงพอ การรักษาทรัพยากรโดยวิธีนี้บทเรียนที่ผ่านมาก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าล้มเลว
ควรจัดทำเขตกันชนรอบใจกลางของพื้นที่อนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ที่ดินควรมีหลายรูปแบบลดหลั่นไปตามความมากน้อยในการอนุญาตให้คนใช้ประโยชน์จากป่า กล่าวคือจากบริเวณที่ป้องกันห้ามใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาดอันเป็นแกนกลางของการอนุรักษ์ไปสู่บริเวณที่จำกัดการใช้ประโยชน์เช่นอนุญาตให้เก็บหาผัก สมุนไพร และของป่าได้เอง ถัดไปเป็นบริเวณที่อนุญาตให้ตัดไม้ใช้สอยได้ต่อจากนั้นก็เป็นบริเวณที่ปลูกสวนป่า พื้นที่เกษตรและที่ตั้งบ้านเรือน ในแต่ละโซนอาจมีป่าธรรมชาติเหลือไว้เป็นหย่อม ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นเส้นทางในการอพยพ หรือกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์ด้วย

แนวความคิดเก่า ๆ มักมุ่งอนุรักษ์แต่เฉพาะป่าสมบูรณ์เอาไว้นั้นไม่ได้ผลเช่นเคย มีการอนุรักษ์ป่าสมบูรณ์ผืนเล็ก ๆ ไว้ ต่อมาคนเข้าไปเที่ยวเดินเหยียบย่ำต้นไม้ก็เสื่อมโทรมลงตามลำดับเพราะป่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การอนุรักษ์จึงไม่ควรอนุรักษ์เฉพาะป่าสมบูรณ์ดั้งเดิมเท่านั้น ป่ารุ่นสองก็มีความสำคัญ ป่าก็ฟื้นตัวเองได้ การทดแทนทางนิเวศวิทยานั้นมีตลอดเวลา วันหนึ่งป่ารุ่นสองเหล่านี้ก็กลับเป็นป่าดั้งเดิมได้อีก ป่าดั้งเดิมก็อาจถูกภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น พายุ ไฟป่า แผ่นดินเลื่อนไหล กลายเป็นป่ารุ่นสองได้เช่นเดียวกัน เนื้อที่อนุรักษ์จึงควรกว้างขวางพอที่จะครอบคลุมยุคต่าง ๆ ของการทดแทน เช่น ป่าใส หรือป่าเหล่า หรือไร่ทรากไว้ด้วยยุคต่าง ๆ ของการทดแทนเหล่านี้ ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น

การอนุรักษ์ควรวางแผน และจัดการโดยให้มีพื้นที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น อาจให้มีพื้นที่ถึง 3 โซน คือ บางโซนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ บางโซนเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยป่าธรรมชาติ ส่วนบางโซนเป็นการอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมไว้ตามสภาพธรรมชาติโดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพื่อการใด ๆ ทั้งสิ้น ในบางกรณีอาจมีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ เช่น บางพื้นที่มีชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยมานานนับร้อยปีหรือเกาะบางแห่งมีชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่มานานหากเป็นไปได้ก็ควรให้ชุมชนดั้งเดิมนี้ได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าอนุรักษ์นั้นด้วย โดยให้เขาได้รับผลประโยชน์จากการจัดป่าอนุรักษ์นั้นบ้าง เพื่อบำบัดความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ และให้ป่าอนุรักษ์อำนวยผลประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

 


ที่มา : ดร. สมศักดิ์ สุขวงศ์ หนังสือความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

 

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมมีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น อากาศ ดิน หิน แร่ธาตุ น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทร พืชพรรณสัตว์ต่าง ๆ ภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นตัวการสำคัญยิ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงทั้งในทางเสริมสร้างและทำลาย

จะเห็นว่า ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ต่างกันที่สิ่งแวดล้อมนั้นรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎอยู่รอบตัวเรา ส่วนทรัพยากรธรรมชาติเน้นสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่าสิ่งอื่น

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

. ทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งตามลักษณะที่นำมาใช้ได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วไม่หมดสิ้น ได้แก่

1) ประเภทที่คงอยู่ตามสภาพเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย เช่น พลังงาน จากดวงอาทิตย์ ลม อากาศ ฝุ่น ใช้เท่าไรก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่รู้จักหมด

2) ประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น ที่ดิน น้ำ ลักษณะภูมิประเทศ ฯลฯ ถ้าใช้ไม่เป็นจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในที่เดิม ย่อมทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ได้ผลผลิตน้อยลงถ้าต้องการให้ดินมีคุณภาพดีต้องใส่ปุ๋ยหรือปลูกพืชสลับและหมุนเวียน

2. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วหมดสิ้นไป ได้แก่

1) ประเภทที่ใช้แล้วหมดไป แต่สามารถรักษาให้คงสภาพเดิมไว้ได้ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า ประชากรโลก ความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำเสียจากโรงงาน น้ำในดิน ปลาบางชนิด ทัศนียภาพอันงดงาม ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้

2) ประเภทที่ไม่อาจทำให้มีใหม่ได้ เช่น คุณสมบัติธรรมชาติของดิน พร สวรรค์ของมนุษย์ สติปัญญา เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติ ไม้พุ่ม ต้นไม้ใหญ่ ดอกไม้ป่า สัตว์บก สัตว์น้ำ ฯลฯ

3) ประเภทที่ไม่อาจรักษาไว้ได้ เมื่อใช้แล้วหมดไป แต่ยังสามารถนำมายุบให้ กลับเป็นวัตถุเช่นเดิม แล้วนำกลับมาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เช่น โลหะต่าง ๆ สังกะสี ทองแดง เงิน ทองคำ ฯลฯ

4) ประเภทที่ใช้แล้วหมดสิ้นไปนำกลับมาใช้อีกไม่ได้ เช่น ถ่านหิน น้ำมันก๊าซ อโลหะส่วนใหญ่ ฯลฯ ถูกนำมาใช้เพียงครั้งเดียวก็เผาไหม้หมดไป ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้

ทรัพยากรธรรมชาติหลักที่สำคัญของโลก และของประเทศไทยได้แก่ ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า น้ำ แร่ธาตุ และประชากร (มนุษย์)

. สิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งเกิดจาก การกระทำของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

2. สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างกำหนดขึ้น

สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ จำแนกได้ 2 ชนิด คือ

1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ อากาศ ดิน ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะ ภูมิอากาศ ทัศนียภาพต่าง ๆ ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทรและทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด

2) สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพหรือชีวภูมิศาสตร์ ได้แก่ พืชพันธุ์ธรรมชาติต่าง ๆ สัตว์ป่า ป่าไม้ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเราและมวลมนุษย์

สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มนุษย์เสริมสร้างขึ้นโดยใช้กลวิธีสมัยใหม่ ตามความเหมาะสมของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ รถยนต์ พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ ฝนเทียม เขื่อน บ้านเรือน โบราณสถาน โบราณวัตถุท อื่น ๆ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ค่านิยม และสุขภาพอนามัย

สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ

1) มนุษย์

2) ธรรมชาติแวดล้อม มนุษย์ เป็นตัวการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าสิ่ง อื่น เช่น ชอบจับปลาในฤดูวางไข่ ใช้เครื่องมือถี่เกินไปทำให้ปลาเล็ก ๆ ติดมาด้วย ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย ส่งเป็นสินค้า หรือเพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกปล่อยของเสียจากโรงงานและไอเสียจากรถยนต์ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (น้ำเน่า อากาศเสีย)

ธรรมชาติแวดล้อม ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เช่น แม่น้ำที่พัดพาตะกอนไปทับถมบริเวณน้ำท่วม และปากแม่น้ำต้องใช้เวลานานจึงจะมีตะกอนมาก การกัดเซาะพังทลายของดินก็เช่นเดียวกัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากแรงภายในโลก เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อื่น ๆ ได้แก่ อุทกภัยและวาตภัย ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งภัยธรรมชาติดังกล่าวจะไม่เกิดบ่อยครั้งนัก

สรุป มนุษย์เป็นตัวการสร้าง และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าธรรมชาติ ความสำคัญของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

สหรัฐอเมริกา ได้ส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth Resources Technology Satellite หรือ ERTS) ดวงแรกของโลกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.. 2515 ดาวเทียมนี้จะโคจรรอบโลกจากขั้วโลกเหนือไปทางขั้วโลกใต้รวม 14 รอบต่อวันและจะโคจรกลับมาจุดเดิมอีกทุก ๆ 18 วัน ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมจะมีทั้งรูปภาพและเทปสมองกลบันทึกไว้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของโลก ส่วนประเทศไทยก็ได้รับข้อมูล และภาพที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การสำรวจทางธรณีวิทยา ป่าไม้ การชลประทาน การประมง หลังจากที่สหรัฐส่งดาวเทียมดวงแรกได้ 1 ปีแล้ว ได้ส่งสกายแล็บ และดาวเทียมตามโครงการดังกล่าวอีก 2 ดวง ในปี พ.. 2520 และ พ.. 2522 นับว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาความรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและการวางโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดบนพื้นโลก

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ป่าและปลา น้ำ ดิน อากาศ แร่ธาตุ มนุษย์และทุ่งหญ้า

 


ที่มา : ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.วิจิตร บุณยะโหตระ

 

ทรัพยากรป่าไม้

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ และยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ถ้าป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย จะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย เพราะเมื่อเผาหรือถางป่าไปแล้ว พื้นดินจะโล่งขาดพืชปกคลุม เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไป นอกจากนั้นเมื่อขาดต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้น้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือน และที่ลุ่มในฤดูน้ำหลากพอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำซึมใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธารทำให้แม่น้ำมีน้ำน้อย ส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้ทำนาไม่ได้ผลขาดน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า

ประเภทของป่าไม้ในประเทศไทย


ประเภทของป่าไม้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการกระจายของฝน ระยะเวลาที่ฝนตกรวมทั้งปริมาณน้ำฝนทำให้ป่าแต่ละแห่งมีความชุ่มชื้นต่างกัน สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
. ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ (Evergreen)
. ป่าประเภทที่ผลัดใบ (Deciduous)

ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ (Evergreen)

ป่าประเภทนี้มองดูเขียวชอุ่มตลอดปี เนื่องจากต้นไม้แทบทั้งหมดที่ขึ้นอยู่เป็นประเภทที่ไม่ผลัดใบ ป่าชนิดสำคัญซึ่งจัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่

1. ป่าดงดิบ (Tropical Evergreen Forest or Rain Forest)

ป่าดงดิบที่มีอยู่ทั่วในทุกภาคของประเทศ แต่ที่มีมากที่สุด ได้แก่ ภาคใต้และภาคตะวันออก ในบริเวณนี้มีฝนตกมากและมีความชื้นมากในท้องที่ภาคอื่น ป่าดงดิบมักกระจายอยู่บริเวณที่มีความชุ่มชื้นมาก ๆ เช่น ตามหุบเขาริมแม่น้ำลำธาร ห้วย แหล่งน้ำ และบนภูเขา ซึ่งสามารถแยกออกเป็นป่าดงดิบชนิดต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ป่าดิบชื้น (
Moist Evergreen Forest)

เป็นป่ารกทึบมองดูเขียวชอุ่มตลอดปีมีพันธุ์ไม้หลายร้อยชนิดขึ้นเบียดเสียดกันอยู่มักจะพบกระจัดกระจายตั้งแต่ความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้ที่สำคัญก็คือ ไม้ตระกูลยางต่าง ๆ เช่น ยางนา ยางเสียน ส่วนไม้ชั้นรอง คือ พวกไม้กอ เช่น กอน้ำ กอเดือย
1.2 ป่าดิบแล้ง (
Dry Evergreen Forest)
เป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบมีความชุ่มชื้นน้อย เช่น ในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะคาโมง ยางนา พยอม ตะเคียนแดง กระเบากลัก และตาเสือ

1.3 ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest)
ป่าชนิดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่สูง ๆ หรือบนภูเขาตั้งแต่ 1,000-1,200 เมตร ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล ไม้ส่วนมากเป็นพวก Gymonosperm ได้แก่ พวกไม้ขุนและสนสามพันปี นอกจากนี้ยังมีไม้ตระกูลกอขึ้นอยู่ พวกไม้ชั้นที่สองรองลงมาได้แก่ เป้ง สะเดาช้าง และขมิ้นต้น
2. ป่าสนเขา (
Pine Forest)

ป่าสนเขามักปรากฎอยู่ตามภูเขาสูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสูงประมาณ 200-1800 เมตร ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางทีอาจปรากฎในพื้นที่สูง 200-300 เมตร จากระดับน้ำทะเลในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ป่าสนเขามีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าชนิดนี้คือ สนสองใบ และสนสามใบ ส่วนไม้ชนิดอื่นที่ขึ้นอยู่ด้วยได้แก่พันธุ์ไม้ป่าดิบเขา เช่น กอชนิดต่าง ๆ หรือพันธุ์ไม้ป่าแดงบางชนิด คือ เต็ง รัง เหียง พลวง เป็นต้น
3. ป่าชายเลน (
Mangrove Forest)

บางทีเรียกว่า "ป่าเลนน้ำเค็ม" หรือป่าเลน มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยันและรากหายใจ ป่าชนิดนี้ปรากฎอยู่ตามที่ดินเลนริมทะเลหรือบริเวณปากน้ำแม่น้ำใหญ่ ๆ ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมถึงในพื้นที่ภาคใต้มีอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน ตามชายทะเลภาคตะวันออกมีอยู่ทุกจังหวัดแต่ที่มากที่สุดคือ บริเวณปากน้ำเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็กใช้ประโยชน์สำหรับการเผาถ่านและทำฟืนไม้ชนิดที่สำคัญ คือ โกงกาง ประสัก ถั่วขาว ถั่วขำ โปรง ตะบูน แสมทะเล ลำพูนและลำแพน ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างมักเป็นพวก ปรงทะเลเหงือกปลายหมอ ปอทะเล และเป้ง เป็นต้น
4. ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (
Swamp Forest)

ป่าชนิดนี้มักปรากฎในบริเวณที่มีน้ำจืดท่วมมาก ๆ ดินระบายน้ำไม่ดีป่าพรุในภาคกลาง มีลักษณะโปร่งและมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ เช่น ครอเทียน สนุ่น จิก โมกบ้าน หวายน้ำ หวายโปร่ง ระกำ อ้อ และแขม ในภาคใต้ป่าพรุมีขึ้นอยู่ตามบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปีดินป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุดอยู่ในบริเวณจังหวัดนราธิวาสดินเป็นพีท ซึ่งเป็นซากพืชผุสลายทับถมกัน เป็นเวลานานป่าพรุแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ตามบริเวณซึ่งเป็นพรุน้ำกร่อยใกล้ชายทะเลต้นเสม็ดจะขึ้นอยู่หนาแน่นพื้นที่มีต้นกกชนิดต่าง ๆ เรียก "ป่าพรุเสม็ด หรือ ป่าเสม็ด" อีกลักษณะเป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากชนิดขึ้นปะปนกัน
ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าพรุ ได้แก่ อินทนิล น้ำหว้า จิก โสกน้ำ กระทุ่มน้ำภันเกรา โงงงันกะทั่งหัน ไม้พื้นล่างประกอบด้วย หวาย ตะค้าทอง หมากแดง และหมากชนิดอื่น ๆ

5. ป่าชายหาด (
Beach Forest)

เป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายทะเล น้ำไม่ท่วมตามฝั่งดินและชายเขาริมทะเล ต้นไม้สำคัญที่ขึ้นอยู่ตามหาดชายทะเล ต้องเป็นพืชทนเค็ม และมักมีลักษณะไม้เป็นพุ่มลักษณะต้นคดงอ ใบหนาแข็ง ได้แก่ สนทะเล หูกวาง โพธิ์ทะเล กระทิง ตีนเป็ดทะเล หยีน้ำ มักมีต้นเตยและหญ้าต่าง ๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง ตามฝั่งดินและชายเขา มักพบไม้เกตลำบิด มะคาแต้ กระบองเพชร เสมา และไม้หนามชนิดต่าง ๆ เช่น ซิงซี่ หนามหัน กำจาย มะดันขอ เป็นต้น

ป่าประเภทที่ผลัดใบ (Declduous)

ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าประเภทนี้เป็นจำพวกผลัดใบแทบทั้งสิ้น ในฤดูฝนป่าประเภทนี้จะมองดูเขียวชอุ่มพอถึงฤดูแล้งต้นไม้ ส่วนใหญ่จะพากันผลัดใบทำให้ป่ามองดูโปร่งขึ้น และมักจะเกิดไฟป่าเผาไหม้ใบไม้และต้นไม้เล็ก ๆ ป่าชนิดสำคัญซึ่งอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่

1. ป่าเบญจพรรณ (Mixed Declduous Forest)

ป่าผลัดใบผสม หรือป่าเบญจพรรณมีลักษณะเป็นป่าโปร่งและยังมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไปพื้นที่ดินมักเป็นดินร่วนปนทราย ป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือมักจะมีไม้สักขึ้นปะปนอยู่ทั่วไปครอบคลุมลงมาถึงจังหวัดกาญจนบุรี ในภาคกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีป่าเบญจพรรณน้อยมากและกระจัดกระจาย พันธุ์ไม้ชนิดสำคัญได้แก่ สัก ประดู่แดง มะค่าโมง ตะแบก เสลา อ้อยช้าง ส้าน ยม หอม ยมหิน มะเกลือ สมพง เก็ดดำ เก็ดแดง ฯลฯ นอกจากนี้มีไม้ไผ่ที่สำคัญ เช่น ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร เป็นต้น

2. ป่าเต็งรัง (
Declduous Dipterocarp Forest)

หรือที่เรียกกันว่าป่าแดง ป่าแพะ ป่าโคก ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ตามพื้นป่ามักจะมีโจด ต้นแปรง และหญ้าเพ็ก พื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย หรือกรวด ลูกรัง พบอยู่ทั่วไปในที่ราบและที่ภูเขา ในภาคเหนือส่วนมากขึ้นอยู่บนเขาที่มีดินตื้นและแห้งแล้งมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีป่าแดงหรือป่าเต็งรังนี้มากที่สุด ตามเนินเขาหรือที่ราบดินทรายชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าแดง หรือป่าเต็งรัง ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด พะยอม ติ้ว แต้ว มะค่าแต ประดู่ แดง สมอไทย ตะแบก เลือดแสลงใจ รกฟ้า ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างที่พบมาก ได้แก่ มะพร้าวเต่า ปุ่มแป้ง หญ้าเพ็ก โจด ปรงและหญ้าชนิดอื่น ๆ

3. ป่าหญ้า (Savannas Forest)

ป่าหญ้าที่อยู่ทุกภาคบริเวณป่าที่ถูกแผ้วถางทำลายบริเวณพื้นดินที่ขาดความสมบูรณ์และถูกทอดทิ้ง หญ้าชนิดต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นทดแทนและพอถึงหน้าแล้งก็เกิดไฟไหม้ทำให้ต้นไม้บริเวณข้างเคียงล้มตาย พื้นที่ป่าหญ้าจึงขยายมากขึ้นทุกปี พืชที่พบมากที่สุดในป่าหญ้าก็คือ หญ้าคา หญ้าขนตาช้าง หญ้าโขมง หญ้าเพ็กและปุ่มแป้ง บริเวณที่พอจะมีความชื้นอยู่บ้าง และการระบายน้ำได้ดีก็มักจะพบพงและแขมขึ้นอยู่ และอาจพบต้นไม้ทนไฟขึ้นอยู่ เช่น ตับเต่า รกฟ้าตานเหลือง ติ้วและแต้ว

ประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้
ป่าไม้มีประโยชน์มากมายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่.

ประโยชน์ทางตรง (Direct Benefits)

ได้แก่ ปัจจัย 4 ประการ

1. จากการนำไม้มาสร้างอาคารบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ไม้ขีดไฟ ฟืน เป็นต้น

2. ใช้เป็นอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของพืชและผล

3. ใช้เส้นใย ที่ได้จากเปลือกไม้และเถาวัลย์มาถักทอ เป็นเครื่องนุ่งห่ม เชือกและอื่น ๆ

4. ใช้ทำยารักษาโรคต่าง ๆ

ประโยชน์ทางอ้อม (Indirect Benefits)

1. ป่าไม้เป็นเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพราะต้นไม้จำนวนมากในป่าจะทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาค่อย ๆ ซึมซับลงในดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินซึ่งจะไหลซึมมาหล่อเลี้ยงให้แม่น้ำ ลำธารมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี

2. ป่าไม้ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและควบคุมสภาวะอากาศ ไอน้ำซึ่งเกิดจากการหายใจของพืช ซึ่งเกิดขึ้นอยู่มากมายในป่าทำให้อากาศเหนือป่ามีความชื้นสูงเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงไอน้ำเหล่านั้นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นเมฆแล้วกลายเป็นฝนตกลงมา ทำให้บริเวณที่มีพื้นป่าไม้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝนตกต้องตามฤดูกาลและไม่เกิดความแห้งแล้ง

3. ป่าไม้เป็นแหล่งพักผ่อนและศึกษาความรู้ บริเวณป่าไม้จะมีภูมิประเทศที่สวยงามจากธรรมชาติรวมทั้งสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้ดี นอกจากนั้นป่าไม้ยังเป็นที่รวมของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งให้มนุษย์ได้ศึกษาหาความรู้

4. ป่าไม้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุและป้องกันอุทกภัย โดยช่วยลดความเร็วของลมพายุที่พัดผ่านได้ตั้งแต่ ๑๑-๔๔ % ตามลักษณะของป่าไม้แต่ละชนิด จึงช่วยให้บ้านเมืองรอดพ้นจากวาตภัยได้ซึ่งเป็นการป้องกันและควบคุมน้ำตามแม่น้ำไม่ให้สูงขึ้นมารวดเร็วล้นฝั่งกลายเป็นอุทกภัย

5. ป่าไม้ช่วยป้องกันการกัดเซาะและพัดพาหน้าดิน จากน้ำฝนและลมพายุโดยลดแรงปะทะลงการหลุดเลือนของดินจึงเกิดขึ้นน้อย และยังเป็นการช่วยให้แม่น้ำลำธารต่าง ๆ ไม่ตื้นเขินอีกด้วย นอกจากนี้ป่าไม้จะเป็นเสมือนเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ จึงนับว่ามีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ด้วยเช่นกัน

สาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย

1. การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
ตัวการของปัญหานี้คือนายทุนพ่อค้าไม้ เจ้าของโรงเลื่อย เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ ผู้รับสัมปทานทำไม้และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งการตัดไม้เพื่อเอาประโยชน์จากเนื้อไม้ทั้งวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย ปริมาณป่าไม้ที่ถูกทำลายนี้นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเพิ่มของจำนวนประชากร ยิ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่าใด ความต้องการในการใช้ไม้ก็เพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้ไม้ในการปลูกสร้างบ้านเรือนเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรกรรมเครื่องเรือนและถ่านในการหุงต้ม เป็นต้น

2. การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดิน
เมื่อประชากรเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินก็อยู่สูงขึ้น เป็นผลผลักดันให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แผ้วถางป่า หรือเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย นอกจากนี้ยังมีนายทุนที่ดินที่จ้างวานให้ราษฎรเข้าไปทำลายป่าเพื่อจับจองที่ดินไว้ขายต่อไป

3. การส่งเสริมการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออก
เช่น มันสำปะหลัง ปอ เป็นต้น โดยไม่ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้ง ๆ ที่พื้นที่ป่าบางแห่งไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเกษตร

4. การกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากระทำไม่ชัดเจนหรือไม่กระทำเลยในหลาย ๆ พื้นที่
ทำให้ราษฎรเกิดความสับสนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ทำให้เกิดการพิพาทในเรื่องที่ดินทำกินและที่ดินป่าไม้อยู่ตลอดเวลาและมักเกิดการร้องเรียนต่อต้านในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน

5. การจัดสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ
เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เส้นทางคมนาคม การสร้างเขื่อนขวางลำน้ำจะทำให้พื้นที่เก็บน้ำหน้าเขื่อนที่อุดมสมบูรณ์ถูกตัดโค่นมาใช้ประโยชน์ ส่วนต้นไม้ขนาดเล็กหรือที่ทำการย้ายออกมาไม่ทันจะถูกน้ำท่วมยืนต้นตาย เช่น การสร้างเขื่อนรัชชประภาเพื่อกั้นคลองพระแสงอันเป็นสาขาของแม่น้ำพุมดวง-ตาปี ทำให้น้ำท่วมบริเวณป่าดงดิบซึ่งมีพันธุ์ไม้หนาแน่นประกอบด้วยสัตว์นานาชนิดนับแสนไร่ ต่อมาจึงเกิดปัญหาน้ำเน่าไหลลงลำน้ำพุมดวง

6. ไฟไหม้ป่า
มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอากาศแห้งและร้อนจัด ทั้งโดยธรรมชาติและจากการกระทำของมะม่วงที่อาจลักลอบเผาป่าหรือเผลอ จุดไฟทิ้งไว้โดยเฉพาะในป่าไม้เป็นจำนวนมาก

7. การทำเหมืองแร่
แหล่งแร่ที่พบในบริเวณที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหน้าดินก่อนจึงทำให้ป่าไม้ที่ขึ้นปกคลุมถูกทำลายลง เส้นทางขนย้ายแร่ในบางครั้งต้องทำลายป่าไม้ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างถนนหนทาง การระเบิดหน้าดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ธาตุ ส่งผลถึงการทำลายป่า

การอนุรักษ์ป่าไม้

ป่าไม้ถูกทำลายไปจำนวนมาก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลกรวมทั้งความสมดุลในแง่อื่นด้วย ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพป่าไม้จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งภาครัฐภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งมีแนวทางในการกำหนดแนวนโยบายด้านการจัดการป่าไม้ ดังนี้
1. นโยบายด้านการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้
2. นโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เกี่ยวกับงานป้องกันรักษาป่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสันทนาการ
3. นโยบายด้านการจัดการที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่น
4. นโยบายด้านการพัฒนาป่าไม้ เช่น การทำไม้และการเก็บหาของป่า การปลูก และการบำรุงป่าไม้ การค้นคว้าวิจัย และด้านการอุตสาหกรรม
5. นโยบายการบริหารทั่วไปจากนโยบายดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้ได้รับผลประโยชน์ ทั้งทางด้านการอนุรักษ์และด้านเศรษฐกิจอย่างผสมผสานกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติและมีทรัพยากรป่าไม้ไว้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การจัดการป่าเศรษฐกิจ

มีกิจกรรมหลายอย่างที่จะดำเนินการในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การพัฒนาป่าธรรมชาติในพื้นที่ ๆ ยังมีป่าธรรมชาติปกคลุมสามารถวางโครงการทำป่าไม้ต่าง ๆ และป่าไม้ชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและการใช้สอยในครัวเรือนของราษฎรได้

2. การพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ ๆ ว่างเปล่าสามารถพัฒนาโดยให้รัฐและเอกชนทำการปลูกป่าในพื้นที่ ๆ ว่างเปล่า เพื่อผลิตไม้ในภาคอุตสาหกรรมและใช้สอยในครัวเรือน

3. การพัฒนาตามหลักศาสตร์ชุมชนใช้พื้นที่ป่าเศรษฐกิจในโครงการพระราชดำริโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงโครงการหมู่บ้านป่าไม้และโครงการ สกท.

4. การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ใช้พื้นที่เขตป่าเศรษฐกิจดำเนินงานในกิจกรรมเหมืองแร่ระเบิดหินย่อย และขอใช้ประโยชน์อื่น ๆ

ที่มา : รวบรวมจาก การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ป่าชายเลน

ป่าชายเลน เป็นกลุ่มของสังคมพืช ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีลักษณะทางเสรีวิทยาและการปรับตัวทางโครงสร้าง ที่คล้ายคลึงกันและการขึ้นของพรรณไม้ในป่าชายเลน จะขึ้นอยู่กับแนวเขต ซึ่งผิดแปลกไปจากสังคมพืชป่าบก ทั้งนี้เพราะอิทธิพลจากลักษณะของดิน ความเค็มของน้ำทะเลและการขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นสำคัญสำหรับแนวเขตที่เด่นชัด ของป่าชายเลน ได้แก่

โกงกาง ทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ จะขึ้นอยู่หนาแน่นบนพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเล

ไม้แสมและประสัก จะอยู่ถัดจากแนวเขตของโกงกาง

ไม้ตะบูน จะอยู่ลึกเข้าไปจากแนวเขตของไม้แสมและประสัก เป็นพื้นที่ที่มีดินเลน แต่มักจะแข็ง ส่วนบนพื้นที่ดินเลนที่ไม่แข็งมากนักและมีน้ำทะเลท่วมถึงเสมอ จะมีไม้โปรง รังกะแท้ และฝาด ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น

ไม้เสม็ด จะขึ้นอยู่แนวเขตสุดท้าย ซึ่งเป็นพื้นที่เลนแข็งที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราว เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเท่านั้น และแนวเขตนี้ถือว่าเป็นแนวติดต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก

สำหรับพวกปรง จะพบทั่ว ๆ ไปในป่าชายเลน แต่จะขึ้นอย่างหนาแน่นในพื้นที่ถูกถาง

 


ที่มา :รวบรวมจาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 21

 

ป่าพรุเป็นอย่างไร ?

ป่าพรุ คือ ป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขังดินเป็นหล่มเลนและมีซากอินทรีย์วัตถุทับถมทำให้ดินยุบลงตัวได้ง่าย พืชที่ขึ้นในป่าพรุจึงมีการพัฒนาและมีความหลากหลาย ส่วนสัตว์ชนิดต่าง ๆ ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ป่าพรุเป็นป่าที่มีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากป่าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพป่าขึ้นอยู่ลักษณะของดิน หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ถ้าจะจำแนกประเภทของป่าพรุจะจัดได้ว่า ป่าพรุเป็นป่าในเขตร้อนประเภทไม่ผลัดใบเช่นเดียวกับป่าดงดิบชื้น แต่สภาพป่านั้นแตกต่างจากป่าประเภทอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง

ป่าพรุเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง
ป่าพรุเกิดขึ้นได้ทั้งตามหุบเขาสูงและชายฝั่งทะเล ในประเทศไทยพบป่าพรุได้ในแถบจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และนราธิวาส แต่ป่าพรุที่สมบูรณ์และเหลืออยู่เป็นผืนสุดท้ายคือ ป่าพรุโต๊ะแดง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหโกลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 165,000 ไร่


สภาพพื้นที่ป่าพรุ

เป็นที่ลุ่มน้ำขังใกล้ชายฝั่ง อากาศบริเวณนั้นมีความชื้นสูง ฝนตกชุกเกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง

องค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ดิน น้ำ พืชพันธุ์ไม้และสัตว์ มีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง

1. ลักษณะของดิน

พื้นที่เดิมชั้นล่างเป็นดินเลนทะเล มีสารประกอบกำมะถัน ดินในป่าพรุเกิดจากการสะสมของซากอินทรีย์วัตถุ เช่น เศษไม้ และใบไม้ เป็นเวลานานทับถมเป็นชั้นหนา ซากพืชและอินทรีย์วัตถุส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้ผิวน้ำ จึงสลายได้อย่างเชื่องช้า เราเรียกดินชนิดนี้ว่า ดินอินทรีย์ (Organic Soil) ลักษณะของดินอินทรีย์เป็นสีน้ำตาลน้ำหนักเบาและ อุ้มน้ำได้ดี ป่าพรุมีดินอินทรีย์ปิดหน้าดินเดิมไว้หนา ประมาณ 0.5 ถึง 5.0 เมตร

2. ลักษณะของน้ำ

ป่าพรุมีน้ำแช่ขังตลอดปี การไหลเวียนของน้ำเป็นไปอย่างช้า ๆ กระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง สีของน้ำเป็นสีน้ำตาลคล้ายน้ำชา เป็นสีของน้ำฝาด (น้ำฝาด คือ น้ำสีน้ำตาลที่ได้จากการสลายตัวของซากพืช) รสเฝื่อนเล็กน้อย (เผื่อน คือ ฝาดปนเปรี้ยว) น้ำในป่าพรุมีสภาพความเป็นกรด-ด่าง หรือมีค่า pH = 4.5-6.0 เป็นกรดอ่อน ๆ สามารถนำมาใช้บริโภคได้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี

3. พืชพันธุ์ไม้

พื้นที่พรุส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำและดินอินทรีย์ซึ่งทับถมกันอยู่หลวม ๆ การดำรงชีวิตอยู่ของพืชโดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่จึงเป็นไปอย่างยากลำบาก พืชในป่าพรุจึงมีการพัฒนาระบบราก ชนิดพิเศษแตกต่างไปจากระบบรากของพืชในป่าประเภทอื่น ๆ เช่น พัฒนาเป็นพูพอน รากค้ำยัน และรากหายใจ เป็นต้น

พูพอน (Buttress) เป็นลักษณะของส่วนด้านข้างของโคนต้นได้แผ่ขยายออกไปเป็นปีกกว้าง เพื่อรับน้ำหนักไม่ให้ต้นไม้นั้นล้มโค่น
รากค้ำยัน (Stilt root) หรือรากค้ำจุน คือรากที่งอกออกทางด้านข้างของลำต้นในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลตลอดเวลาและเพื่อไม่ให้ขัดขวางการไหลเวียนของกระแสน้ำ

รากหายใจ (Preumatophore) คือรากแขนงที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพื่อระบายอากาศ และมีลักษณะแตกต่างกันไปเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พืชพันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุแต่ไม่พบในป่าประเภทอื่น ได้แก่ มะฮัง สะเตียว หลุมพี สาคู หลาวชะโอน กะพ้อแดง ตังหนใบใหญ่ ช้างไห้ เป็นต้น ที่ป่าพรุโต๊ะแดงจะพบพืชชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากคือ หมากแดง

ตัวอย่างพืชที่พบในป่าพรุ

กระพ้อแดง

หลุมพี

หลาวชะโอน

สาคู

ช้างไห้

สะเตียว

4. สัตว์ในป่าพรุ
นอกจากพืชพันธุ์ไม้แล้ว สิ่งมีชีวิตอีกพวกหนึ่งซึ่งจะลืมไม่ได้เมื่อป่านั้นสมบูรณ์ คือ สัตว์ที่เข้ามาอาศัยอยู่เนื่องจากป่าพรุเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขัง ดังนั้นพื้นที่ป่าเป็นพื้นน้ำก็จะมีพวกปลาอาศัย เช่น ปลาดุก ลำพัน ปลาช่อน ปลาชะโด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพวก กบ เขียด แต่จะพบเขียดชนิดหนึ่ง ถ้าเดินเข้าไปในป่าพรุจะได้ยินเสียงดังว้าก ๆๆ ครั้งแรกคิดว่าเป็นเสียงนกร้อง แต่จริง ๆ แล้วเป็นเสียงร้องของเสียดว้าก สัตว์ปีกจำพวกนกได้แก่ นกเงือก นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบ เช่น ค่างแว่น ลิง เป็นต้น เมื่อพรุอุดมสมบูรณ์ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงย่อมใช้ประโยชน์จากป่า แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ การเข้าบุกทำลายอย่างรวดเร็วอย่างที่เป็นข่าว

โทษของการทำลายป่าพรุ

ทำให้ดินและน้ำบริเวณป่าพรุและใกล้เคียงกลายเป็นกรดอย่างรุนแรงจนไม่สามารถประกอบการกสิกรรมหรือแม้แต่นำมาดื่มกินได้ ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ สูญหายไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น อากาศร้อนจะแห้งแล้งมากขึ้น น้ำที่เคยมีในพื้นที่ป่าพรุก็แห้งเกิดไฟป่าเผาไหม้ เหตุการณ์เหล่านี้เองเป็นสิ่งเตือนใจให้ประชาชนได้ทราบถึงผลร้ายในการทำลายป่าพรุ

การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุที่เสื่อมโทรมให้คืนดีจะต้องอาศัยความร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย และประชาชนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของป่าพรุด้วยเนื่องจากป่าพรุเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง ความตื่นตัวนี้ส่งผลให้เกิดความพยายามที่จะรักษาธรรมชาติ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมเอาไว้

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มเข้าไปดำเนินงานด้านป่าพรุภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้ขยายการดำเนินงานการศึกษาและวิจัยป่าพรุ โดยการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าพรุขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระราชทานนามศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ว่า "ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร"

ศูนย์นี้ตั้งขึ้นโดยมีความมุ่งหมายให้ป่าพรุเป็นแหล่งการศึกษาความรู้ในธรรมชาติ อีกทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหาความเพลิดเพลินของนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจ โดยมีการก่อสร้างทางเดินเพื่อสะดวกในการเข้าไปศึกษาป่าพรุ แต่อย่างไรก็ตามความมุ่งหมายในที่สุดก็คือ เพื่อให้เป็นแหล่งสร้างจิตสำนักแก่ประชาชนโดยทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรในป่าพรุ และช่วยกันรักษาป่าพรุโต๊ะแดงให้คงอยู่ตลอดไป

ที่มา : รวบรวมจาก ทิพย์วรรณ สุดปฐม วิทยากร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป วารสาร สสวท

 

ป่าฝน

 

ป่าเขียวชะอุ่ม ในเขตร้อนชื้นที่มีปริมาณฝนตกต่อปีมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร และมีฤดูแล้งที่สั้นกว่า 2 เดือนในแต่ละปี นั้นคือ ป่าที่มีชื่อเรียกว่า ป่าฝน คำว่า "ป่าฝน"ได้ถูกนิยามขึ้นไว้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.. 1898 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ชิมซอร์ เขาได้กำหนด ความหมายของคำว่า "ป่าฝน" ไว้ว่า หมายถึง เขตป่าที่เติบโตในสภาพที่มีความชื้นคงที่ ซึ่งจะเกิด ขึ้นในที่ๆ มีปริมาณฝนตกต่อปี มากกว่า 2,000 มิลลิเมตร หรือ เท่ากับ 80 นิ้ว เขตป่าฝนโดยทั่วไป จะพบตามภูมิภาคของโลกทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน แต่เขตป่าที่รู้จักกัน มากที่สุดคือ เขตป่าฝน บริเวณแนวรอบเส้นศูนย์สูตร  ลกของป่าฝนจะครอบคลุมพื้นที่ ที่อยู่ในดินที่ลึกลงไป ประมาณ 1 เมตรและมีอาณาเขตที่สูงขึ้นไป จากพื้นดิน ประมาณ 60 เมตร

 

ในเขตป่าฝน เรือนยอดของต้นไม้ จะถูกปิดด้วยกิ่ง ก้าน ใบ และเรือนยอดของไม้ใหญ่ โดยจะมี ช่องว่าง ไม่มากนักระหว่างไม้ยืนต้นแต่ละต้น ในทางพฤกษศาสตร์ ได้แบ่งเขตป่าฝนออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามความสูงคือ

1. เขตป่าฝนพื้นที่ต่ำ

2. เขตป่าฝนบนภูเขา

เขตป่าฝนของโลก เป็นเขตป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ในบรรดาเขตป่าไม้ทั้งหมดในโลกโดย มีชั้นเรือนยอดที่ปกคลุมผืนป่า อยู่สูงจากพื้นดิน ขึ้นไปมากกว่า 45 เมตร ในชั้นเรือนยอด ที่แผ่ปกคลุมพื้นที่ปกคลุมพื้นที่ป่านั้นจะประกอบ ด้วยพันธ์พืชนานาชนิดที่ขึ้นอยู่เคียงกัน และจะมีไม้ยืนต้นบางชนิด ที่มีความสามารถเป็นพิเศษที่ชูเรือนยอด โผล่ขึ้นไป เหนือเรือนยอดที่แผ่ปกคลุมอยู่โดย มีความสูง ถึง 60 เมตร ไม้ยืนต้นใบกว้าง ที่มีความสูงที่สุดของป่าฝนที่ได้รับการบันทึกไว้ ก็คือ พันธุ์ไม้ที่มีชื่อเรียกว่า คุมพาสเซีย เอเซลซา ที่เกิดอยู่ในป่าฝน ในซาราวัคซึ่งมีความสูงถึงกว่า 83 เมตร

 

เขตป่าฝนบนภูเขา จะเกิดอยู่ในพื้นที่ภูเขาที่อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 900 เมตร หรือเท่ากับ 3,000 ฟุต ซึ่งพันธุ์พืชที่พบมักจะแตกต่าง กับพันธุ์พืชที่อยู่ต่ำไปข้างล่าง ในเขตป่าฝนบนภูเขา มักจะมีหมอกปกคลุมอยู่เหนือชั้น เรือนยอด ของป่าและนี่เองที่เป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า ป่าหมอก ในเขตป่าฝน ที่มีหมอกปกคุมอยู่เหนือเรือนป่านี้ ระดับแสงภาย ในป่าจะถูกลดลงอย่างมาก และใบพืชจะมีน้ำไหลซึมออกมาเป็นหยดน้ำ และระเหยไปในอากาศ เขตป่าฝนในพื้นที่ต่ำก็คือ ป่าดงดิบที่ดูน่าสพึงกลัวนั้นเป็นโลกของ ป่าที่เร้นลับ ร้อนและ ชื้นและเต็มไปด้วยเถาวัลย์ที่ห้อยระโยงระยาง

 

 

เขตป่าฝนพื้นที่ต่ำ มีดินที่มีการระบายที่ดีความทึบของป่าที่ชื้นปกคลุมหนาแน่นได้ทำหน้าที่ ป้องกันแสงแดดอันร้อนแรง ไม่ให้ส่องถึงบริเวณพื้นล่างของป่า และยังเก็บความ ชื้นไว้ด้วย ตามบริเวณริมธารน้ำ และบริเวณที่โล่งในป่า ลักษณะทั่วไปของเขตป่าฝนพื้นที่ต่ำ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะมี รากอวบใหญ่และมีฝอยลม ห้อย ระย้าลงมาจากกิ่งไม้ชั้นบนสุด มีลักษณะเป็น เส้นที่บางเบาเหมือนเครา ลำต้นของต้นไม้และพื้นป่าจะปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำ สีเขียวสด และมีน้ำซึมซับอยู่ตลอดเวลาเฟิร์นและพืชอาศัยมีอยู่ดาษดื่นทั่วทั้งป่า นักพฤกษศาสตร์ ได้แบ่งแยกเขตป่าฝนพื้นที่ต่ำ ออกเป็นชนิดต่างๆ ถึง 40 ชนิด ตามความ แตกต่างของปริมาณฝนที่ตกความอุดมสมบูรณ์ของดินและการระบาย ในภูมิภาค ที่มีฝนตกมาก และแผ่กระจายไปเกือบตลอดปี เขตป่าฝน พื้นทีต่ำจะเขียวตลอดปี ต้นไม้ยืนต้นส่วนใหญ่จะไม่ผลัดใบเลย

 

เขตป่าฝน คือถิ่นกำเนิด และเจริญเติบโตของไม้เนื้อแข็งชนิดดี และตามลำต้นของไม้ยืนต้นต่างๆ จะมีไม้เลื้อยและเถาวัลย์ระโยงระยางลงมา ตลอดทั้งป่า พื้นในเขตป่าฝนส่วนมาก มักมีดอกที่เต็มไปด้วยสีสัน เพื่อดึงดูดนก และแมลง ที่ทำหน้าที่ผสมเกสรจำนวนพันธุ์พืชกว่า 1,400 ชนิด ในเขตป่าฝนที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง และผลผลิตของป่าฝนอีกหลายชนิด ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเวชภัณฑ์

ในปัจจุบันโดยเฉลี่ยแล้ว 1 ใน 4 ของยาที่ซื้อจากร้านขายยาจะมีส่วนผสม ที่ได้ มาจากพันธุ์พืชของเขตป่าฝน ในโลกนี้มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำ จากป่าฝน สำหรับดื่มกิน และทำการเพาะปลูก หากไม่มีการปกป้องป่าฝนไว้ให้ดีแล้ว จะเกิดภาวะฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วม และแผ่นดินถล่มได้ พืชและสัตว์ในเขตป่าฝน มีชีวิตอยู่ได้ด้วยคาร์บอนเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น เมื่อเขตป่าฝนเป็นที่ผสมผสานของ ชีวิตต่างๆ ก็จะเป็นแหล่ง รวมของคาร์บอน จำนวนมากด้วย เมื่อมี การเผาไหม้ คาร์บอน ก็จะถูกปล่อยออกสู่อากาศ เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็น สาเหตุทำให้โลกร้อนขึ้น

วิธีการในระยะสั้น วิธีเดียวที่จะลดระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศ ก็คือการ ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ขณะที่ต้นไม้เติบโต มันก็ดูดซับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ และรวมเอาคาร์บอนไว้ในเซลของมันเมื่อต้นไม้โตเต็มที่ มันก็จะได้ดุลย์กับบรรยากาศและสร้างความ ร่มเย็นให้โลกได้ตลอดไป

ที่มา : รวบรวมจาก โลกของเราตอน "ป่าฝน" ฝ่ายพัฒนาและผลิตสื่อ กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

ป่าเพื่อการอนุรักษ์ .. คือ .. อะไร

มีคนกล่าวถึงป่าอนุรักษ์กันมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน แต่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าป่าอนุรักษ์มีเพียง อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งความจริงแล้ว ป่าอนุรักษ์ตามความหมายที่กรมป่าไม้กำหนดนั้นหมายถึง ป่าที่รัฐได้กำหนดไว้เพื่อการแนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ซึ่งมีความหมายมากกว่าที่กล่าวถึงข้างต้น

พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์นั้นตามที่กรมป่าไม้กำหนด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย อันได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

2. ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นป่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์ และป่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม

3. ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามนโยบาย ได้แก่ พื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้จัดให้เป็น วนอุทยานแห่งชาติ สวนรุกขชาติ สวนพฤษศาสตร์ เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติ (National Park)

พื้นที่ซึ่งรัฐบาลเห็นว่ามีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจสมควรสงวนเป็นพิเศษ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพเดิมถาวรตลอดไป เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและนันทนาการ การจะเป็นประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ต้องประกาศในพระราชกฤษฎีกา มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤฏีกา และที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary)

คือพื้นที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์ และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้นทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แห่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-hunting Area)

คือบริเวณสถานที่ที่ใช้ในราชการ หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ปรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยกำหนดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1

คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะเนื่องจากมีลักษณะและคุณสมบัติที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีป่า หรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม ซึ่งในพื้นที่นี่มิควรมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ทำลายสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ การใช้ที่ดิน หรือพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ จึงต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2

คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งโดยลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะสมต่อการเป็นต้นน้ำ ลำธาร ในระดับรองลงมา และสามารถนำมาใช้ประโยขน์ได้ ในการปลูกพืขเพื่อการเกษตรกรรม ทำไร่

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3

คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งโดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูกพืชเพื่อการเกษตรกรรมปลูกไม้ยืนต้น

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4

คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งสภาพป่าได้ถูกบุกรุกทำลายเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม ทำไร่

พื้นที่ลุ่มชั้นที่ 5

คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบ หรือที่ลุ่ม หรือเนินเอียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ป่าได้ถูกทำลายเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรมไปหมดแล้ว

การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้นนั้นกำหนดขึ้นจาก สภาพภูมิประเทศ ระดับความลาดชัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางธรณีวิทยา ลักษณะทางปฐพีวิทยา และสภาพป่าที่ปรากฏอยู่ซึ่งทำให้ปัจจุบันคณะอนุกรรมการทางวิชาการของคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ได้แบ่งลุ่มน้ำของประเทศออกเป็น 25 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำแม่กก ลุ่มน้ำโขง 1 และ 2 ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางประกง ลุ่มน้ำโตนทะเล ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ลุ่มภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์

พื้นที่ป่าชายเลนที่ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นอกจากปล่อยให้เป็นธรรมชาติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพและระบบนิเวศ ได้แก่พื้นที่แหล่งรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แหล่งเพาะพันธุ์และสัตว์น้ำ พื้นที่ที่ง่ายต่อการถูกทำลาย และการพังทลายของดิน พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี พื้นที่ที่ควรสงวนไว้สำหรับแนวกันลม ป้องกันคลื่นและกระแสน้ำ พื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการสงวนไว้เพื่อเป็นที่สถานที่ศึกษาวิจัย พื้นที่ที่ควรสงวนไว้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ และพื้นที่ที่อยู่ห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตรจากริมฝั่งน้ำลำคลองธรรมชาติและไม่น้อยกว่า 75 เมตรจากชายฝั่งทะเล

วนอุทยาน (Forest Park)

คือพื้นที่ขนาดเล็กจัดตั้งเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ มีความสำคัญในระดับท้องถิ่น จุดเด่นอาจได้แก่น้ำตก หุบเหว หน้าผา ถ้ำหรือหาดทราย

สวนพฤษศาสตร์

คือสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งสดและแห้ง และแสดงถิ่นที่กำเนิดของพรรณพืชเพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางพฤษศาสตร์ ศึกษาความแตกต่างของชนิดพันธุ์ สภาพทางสรีรวิทยา การเจริญเติบโต การแพร่กระจาย การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ ฯลฯ โดยในสวนพฤษศาสตร์จะจัดปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยในสวนพฤษศาสตร์จะจัดปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศให้เป็นหมวดหมู่ตามหลักสากล และตามหลักวิชาการทางพฤษศาสตร์ให้ดูสวยงาม และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

สวนรุกขชาติ

คือแหล่งรวมพันธุ์ไม้ของท้องถิ่นที่มีค่า โดยจัดปลูกให้มีความสวยงาม เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาด้านพันธุ์ไม้สำหรับประชาชน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ หรือที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่าป่าอนุรักษ์จากการกำหนดของกรมป่าไม้นั้นมีมากกว่าที่เราคิด อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง ได้มีการใช้ประโยชน์ของชุมชนมาช้านาน และหลายชุมชนมีวัฒนธรรมใช้ป่าที่มิได้มุ่งเพื่อการทำลายป่าให้หมดไป แต่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบต่อป่าน้อยที่สุด ดังนั้นการใช้พลังชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรให้ความสนใจ และพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

 



ที่มา : รวบรวมจาก รณกร ตีรกานนท์ ข่าวสารป่ากับชุมชน

 

โป่ง ( Salt licks )

ดินโป่ง คือ ดินที่มีรสเค็มและละเอียดซึ่งเกิดจากแร่ธาตุบางชนิด เป็นอาหารของสัตว์ป่าที่กินหญ้าบางชนิด หรือโป่งคือบริเวณพื้นที่ซึ่งมีแร่ธาตุต่าง ๆ มารวมกัน อันเนื่องมาจากฝนตกหนัก และเกิดขบวนการชะล้างนำเอาแร่ธาตุที่จำเป็นของสัตว์ป่าออกจากดินทั่วไปรวมกันยังพื้นที่แห่งหนึ่ง แร่ธาตุเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งสัตว์สัตว์ป่าไม่สามารถหาทดแทนได้จากพืช ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบใหญ่ ดังนั้นพื้นดินส่วนนี้จึงเป็นแหล่งแร่ธาตุสำหรับสัตว์ป่าซึ่งกินพืชเป็นอาหาร เช่น กวาง เก้ง กระทิง วัวแดง และช้างป่า เป็นต้น
นอกจากนี้ โป่งยังเป็นแหล่งอาหารที่สัตว์ลงมากิน เพื่อช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร อาจจะเป็นดิน หินหรือน้ำเป็นประจำ โดยที่บริเวณเหล่านี้จะมีแร่ธาตุและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าเป็นปริมาณมาก และแหล่งอื่น ๆ มีน้อยกว่าหรือไม่มีเลย

ลักษณะและชนิดของโป่งที่มีในธรรมชาติ

 

โป่งดิน (Dry lick) เป็นบริเวณที่สัตว์ลงไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสัตว์มักจะใช้ปากขุดลงไป ปกติจะลึกไม่เกิน 1 เมตร เพื่อกินดินเหล่านั้น โดยเริ่มกินที่ผิวดินก่อนแล้วค่อย ๆ กินลึกลงไปเป็นบริเวณกว้างไม่เกิน 10 เมตร โป่งดินจะพบตามริมหรือในห้วยที่เป็นที่ราบ ในฤดูฝนอาจมีน้ำท่วมขังอยู่ซึ่งสัตว์ป่าจะไม่เลียกินดิน แต่จะเลียกินน้ำแทนหลังจากที่ธาตุและเกลือแร่ในโป่งดินหมดไปหรือมีน้อย สัตว์อาจทิ้งโป่งดินและไปกินโป่งใหม่ในแหล่งอื่น ๆ ต่อไปอีก โป่งที่สัตว์ไม่กินและไม่มาใช้ประโยชน์อีก เรียกว่า โป่งร้าง

โป่งน้ำ (Wet licks) ปกติเป็นแหล่งที่เป้นต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป้นน้ำซึมหรือน้ำซับหรือที่ไหลออกมาจากภูเขาหินปูน แอ่งหรือบ่อที่เป็นโป่งดินมาก่อนโดยจะมีน้ำขังตลอดปี มักพบโป่งน้ำตามภูเขาน้ำซึมหรือน้ำซับดังกล่าวมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ละลายอยู่
ทั้งโป่งดินและโป่งน้ำพบเห็นได้ในป่าค่อนข้างราบ ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับแร่ธาตุจากการกัดเซาะ พังทลายของดินจากที่สูงลงมาสะสมไว้ ส่วนใหญ่พบโป่งได้มากในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดงดิบมากน้อยตามลำดับ

ความสำคัญของแร่ธาตุต่อสัตว์

พืชอาหารสัตว์เป็นอาหารสัตว์เป็นอาหารที่จำเป็นและสำคัญสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องในประเทศเขตร้อน เช่น พลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุ สำหรับแร่ธาตุแล้วเป็นองค์ประกอบของน้ำหนักตัวของสัตว์ประมาณร้อยละ 5 แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ความต้องการแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสัตว์ในอาหารสัตว์นั้นมีอย่างน้อยกว่า 15 ธาตุคือ

1. แร่ธาตุที่สัตว์ต้องการในปริมาณมาก ได้แก่ แคลเซียม (Ca) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเซียม (K) โซเดียม (CI) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S)

2. แร่ธาตุที่สัตว์ต้องการในปริมาณน้อย ได้แก่ โคบอลล์ (Co) ทองแดง (Cu) ไอโอดีน (I) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โมลิปดินัม (Mo) ซิลิเนียม (Se) และสังกะสี (Zn)

ประเภทของสัตว์ที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โป่ง

1. สัตว์ปีกที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โป่ง

1.1 พวกที่เข้ามาใช้โป่งเพื่อประโยชน์โดยตรง
สัตว์ปีกกลุ่มนี้เข้ามากินน้ำซับในโ่ป่งน้ำ และเลือกกินเม็ดกรวด เม็ดทราย ส่วนใหญ่เป็นพวกกินพืชเป็นอาหารหลัก เช่น นกเขาเปล้าชนิดต่างๆ นกมูม นกแขกเต้า และนกเขาเขียว

1.2 พวกที่เข้ามาใช้พื้นที่โป่งเพื่อประโยชน์โดยอ้อม
สัตว์ปีกกลุ่มนี้ผ่านเข้ามาเพื่อคอยล่าเหยื่อ หรือจับแมลงกินเป็นอาหาร ไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมเหมือนสัตว์ปีกพวกแรก การเข้าใช้พื้นที่โป่งอาจเป็นเพราะโป่งตั้งอยู่ในเส้นทางที่ผ่านในขณะกำลังหากินพอดี เช่น เหยี่ยวรุ้ง และพญาแร้ง

2. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โป่ง

2.1 พวกที่เข้ามาใช้พื้นที่โป่งเพื่อประโยชน์โดยตรง
สัตว์พวกนี้กินดินจากโป่งดินปรือน้ำซับจากโป่งน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหารหลัก เช่น ช้างป่า เก้ง กวางป่า วัวแดง กระทิง เลียงผา หมูป่า สมเสร็จ ค่างแว่นถิ่นเหนือ และลิงกัง

2.2 พวกที่เข้ามาใช้พื้นที่โป่งเพื่อประโยชน์โดยอ้อม
สัตว์ป่าพวกนี้ใช้พื้นที่โป่งเช่นเดียวกับพวกแรก แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักกินโป่งเพื่อต้องการแร่ธาตุ ส่วนใหญ่จะไม่ใช่สัตว์กินพืชอย่างเดียวเป็นอาหาร ซึ่งจระเข้สามารถกินน้ำในโป่ง หาอาหารหรือเข้ามาดักเพื่อล่าเหยื่อที่ใช้ประโยชน์จากโป่งเพื่อแหล่งอาหาร เช่น หมาจิ้งจอก หมาใน เสือโคร่ง เสือดำ อีเห็น และชมดชนิดต่าง ๆ

 


ที่มา : รวบรวมจาก วารสารส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 45

 

โลกของเรา สิ่งแวดล้อมของเรา ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect)

 

มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงระบบการไหลเข้าออกของพลัง งานความร้อนจากดวงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่มีการควบคุมขึ้น สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของโลก การเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของชั้นบรรยากาศ และความผันแปรของภูมิอากาศตามธรรมชาติ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ก่อมลพิษทางอากาศ ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนซึ่งปกป้องผิวโลก และก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงขึ้น

โลกของเรามีก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่โดยรอบ ทำหน้าที่คล้ายเรือนกระจก หรือกรีนเฮาส์เป็นเกราะกำบังกรองความร้อนที่จะผ่านลงมายังพื้นผิวโลก และเก็บกักความร้อนบางส่วนเอาไว้ ทำให้โลกมีอุณหภูมิพอเหมาะสำหรับการดำรงชีวิต             แต่ในปัจจุบัน มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกอย่างร้ายแรง โดยการก่อและใช้สารเคมีบางชนิดในกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำลายเกราะป้องกันของโลก และก๊าซบางชนิดยังก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก GREENHOUSE EFFECT โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนหนาแน่นขึ้น ทำให้เก็บกักความร้อนได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิอากาศของโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่าง ๆ และมหาสมุทรจะขยายตัวจนเกิดน้ำท่วมได้ในอนาคต

ก๊าซเรือนกระจก มาจากไหน ?

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซชนิดที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เป็นตัวการสำคัญที่สุดของปรากฎการณ์เรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า การตัดไม้ทำลายป่า

ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากของเสียจากสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย การทำนาที่ลุ่มน้ำท่วมขัง การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินก๊าซธรรมชาติ และการทำเหมืองถ่านหิน

ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการใช้ปุ๋ยไนเตรดในไร่นา การขยายพื้นที่เพาะปลูก การเผาไหม้ เผาหญ้า มูลสัตว์ที่ย่อยสลาย และเชื้อเพลิงถ่านหินจากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในขบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมี หรืออุตสาหกรรมพลาสติกบางชนิด

คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon- CFsC) เป็นก๊าซที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในเครื่องทำความเย็นชนิดต่าง ๆ เป็นก๊าซขับดันในกระป๋องสเปรย์ และเป็นสารผสมทำให้เกิดฟองในการผลิตโฟม เป็นต้น ซีเอฟซี มีผลกระทบรุนแรงต่อบรรยากาศ ทั้งในด้านทำให้โลกร้อนขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก และทำลายบรรยากาศโลกจนเกิดรูรั่วในชั้นโอโซน

 


ที่มา : รวบรวมจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

โอโซน

โอโซนคือรูปแบบพิเศษของออกซิเจนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในชั้นของบรรยากาศชั้นบน ๆ ชั้นโอโซนนี้มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อโลก

ชั้นโอโซนอยู่ห่างจากผิวโลกประมาณ 20 ไมล์ โดยอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ชั้นโอโซนจะช่วยป้องกันไม่ให้รังสีอุตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ส่องมาถึงโลกของเรา ดวงอาทิตย์ทำให้ชีวิตบนโลกดำรงอยู่ได้ ความอบอุ่นและพลังงานของดวงอาทิตย์ส่งผลต่อดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง แต่ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดรังสีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตด้วย ชั้นโอโซนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกัน ปกป้องพืชและสัตว์จากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์ ดังนั้นเมื่อใดที่โอโซนบางลงเราก็ได้รับการปกป้องน้อยลงด้วย เราเรียกรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ว่า อุตราไวโอเล็ต อุลตราไวโอเล็ตเป็นรังสีที่ไม่สามารถมองเห็นได้ หากมีปริมาณน้อยรังสีอุลตราไวโอเล็ตจะปลอดภัยและมีประโยชน์ โดยช่วยให้ร่างกายของเราได้รับวิตามินอี แต่รังสีอุลตราไวโอเล็ตที่มากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังของเราอักเสบเนื่องจากแพ้แดด

ปริมาณของรังสีอุลตราไวโอเล็ตจำนวนมากอาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบรุนแรง เกิดโรคผิวหนัง และปัญหาเกี่ยวกับดวงตารังสีอุลตราไวโอเล็ตยังลดความสามารถของร่างกายมนุษย์ในการต่อสู้กับโรคต่าง ๆ นอกจากนี้รังสีอุลตราไวโอเล็ตปริมาณมากยังทำลายพืชในไร่และต้นพืชเล็ก ๆ ในทะเลซึ่งเป็นอาหารของปลา
หากต้องไปอยู่ท่ามกลางแสงแดด ควรทาครีมป้องกันผิว ครีมทาผิวเหล่านี้จะมีตัวเลขบอกปริมาณการปกป้องผิวจากรังสีอุลตราไวโอเล็ตได้

 


ที่มา :รวบรวมจาก กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

การพยากรณ์ปรากฎการณ์เรือนกระจก

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน สื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ทั่วโลกได้ประโคมข่าวว่า ปรากฎการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) กำลังคุกคามโลกคือ โลกจะร้อนขึ้น ๆ ทุกวัน และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในตอนนั้นต่างก็เห็นพ้องกันว่า มนุษย์คือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น แม้กระทั่งคณะกรรมการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศโลก (IPCC) ที่สหประชาชาติจัดตั้ง ก็มีรายงานออกมาว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ทำอยู่ทุกวัน เช่น เผาป่า ปล่อยมลพิษ ขับรถยนต์ ฯลฯ มีผลกระทบต่อสภาพดินฟ้าอากาศของโลกอย่างรุนแรง

แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เตรียมตัวที่จะประชุมกันในเดือนกรกฎาคม พ.. 2540 เพื่อร่างสัญญากำหนดให้แต่ละชาติมีนโยบายและมาตรการควบคุม และจำกัดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ก็ปรากฎว่าในวารสาร Science ฉบับเดือนพฤษภาคม 2540 มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้กล่าวเตือนว่า ในความเป็นจริงนั้น ยังไม่มีใครมั่นใจว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ทำได้ทำให้โลกเราร้อนขึ้นจริง และจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าหากโลกประสบปัญหาปรากฎการณ์เรือนกระจก สถานการณ์ที่เลวร้ายบนโลกจะเป็นเช่นไร

คณะนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ชี้บอกว่า ตัวเลขที่แสดงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่ทาง IPCC อ้างว่าได้เพิ่มสูงขึ้น 0.5 องศาในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมานั้นจริง ๆ แล้วตัวเลขนี้มีความไม่แน่นอนแฝงอยู่ด้วย และความผิดพลาดดที่ว่านั้นก็มีค่าสูง ดังนั้นการที่จะสรุปว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุที่ทำให้โลกมีปัญหาเรือนกระจก จึงเป็นการสรุปที่เลื่อนลอย และขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างก็เห็นพ้องกันว่า เราต้องการเวลาอย่างน้อยก็อีก 10 ปี จึงจะตัดสินใจได้เด็ดขาดลงไปว่าที่ว่ามนุษย์ทำให้โลกระอุนั้นจริงหรือไม่จริง

ในความพยายามที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าโลกเรากำลังร้อนขึ้น ๆ ตลอดเวลานั้น นักอุตุนิยมวิทยาต้องเอาชนะอุปสรรคสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ ปัญหาประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ และปัญหาที่สอง คือ การขาดแคลนข้อมูลที่แท้จริงของสภาพดินฟ้าอากาศทุกหนแห่งของโลก

ในกรณีของคอมพิวเตอร์นั้นเราก็คงยอมรับว่า ถึงแม้เราจะมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้ก็ตาม แต่ในการทำนายอากาศในอนาคตที่ต้องใช้ข้อมูลของ aerosol ซึ่งเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก จนกระทั่งข้อมูลของโลกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโมเลกุลของ aerosol เป็นร้อยล้านเท่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีใช้ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ เมื่อเป็นเช่นนี้นักวิชาการจึงคาดคะเนว่า ถ้าจะให้ดี คอมพิวเตอร์ใหม่ต้องทำงานดีกว่าเก่า 1036 เท่า

 


ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน วิทยาศาสตร์น่ารู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ไฟป่า

นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศของโลกได้สนใจปรากฎการณ์ไฟป่าและเหตุการณ์เผาป่าในภูมิภาคเขตร้อนของโลกมานานแล้ว เพราะเขารู้ว่าการตัดไม้แล้วเผาป่า หรือไฟป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้นปีละมากๆ และก๊าซชนิดนี้ใครๆ ก็รู้ดีว่า เป็นก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกบนโลก นักวิทยาศาสตร์ได้คาดคะเนอีกว่า ผลของการตัดไม้เผาป่านี้ได้ทำให้เกิดเขม่าและเถ้าถ่านที่มีน้ำหนักถึง 1.6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนที่มนุษย์ผลิตได้ในแต่ละปี นอกจากการเผาป่าจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นพิษแล้วป่าที่ถูกเผาจะปลดปล่อยก๊าซพิษอื่น ๆ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ และไฮโดรคาร์บอน ออกมาสู่บรรยากาศของโลกอีกด้วย

B. Kauffman แห่งมหาวิทยาลัย Oregon State ในสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลหนึ่งที่สนใจสภาพสมดุลของคาร์บอนในบรรยากาศโลก เขาได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเผาป่าโดยชาวไร่ และชาวนาที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำ Amazon ในทวีปอเมริกาใต้ ในการศึกษาครั้งนั้น Kauffman ได้วัดปริมาณชีวมวลของป่าทั้งก่อนและหลังการเผา จากขนาดของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่และที่ถูกโค่นแล้วเผา และสภาพอุดมสมบูรณ์ของดินทั้งก่อนและหลังเผา

เขาได้รายงานผลการวิจัยของเขาว่า การเผาป่าที่ซ้ำอีกมีบทบาทที่สำคัญมากในการเพิ่มมลภาวะ ซึ่งการเผาป่าซ้ำ ๆ เช่นนี้ นักนิเวศวิทยาในอดีตมิได้เคยคำนึงถึงเลย เพราะนักนิเวศวิทยาเหล่านั้นคิดแต่เพียงว่าพอป่าถูกไฟเผาแล้ว ต้นกำเนิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีแหล่งเดียวคือ กระบวการเน่าสลายของชีวมวล

แต่เมื่อ Kauffman ได้ศึกษาไฟป่าที่เกิดในรัฐ Rondonia และในรัฐ Para ของบราซิล 18 ครั้ง ในระหว่างปี พ.. 2534-2538 เขาได้พบว่า เมื่อเกิดไฟป่าแล้ว ตามปกติชาวนาจะเผาป่าอีกทุก 2-3 ปี เพื่อกำจัดวัชพืชแล x ะหญ้าต่าง ๆ ที่ได้รุกล้ำเข้ามาบริเวณป่าที่ถูกเผา ซึ่งถ้าคิดน้ำหนักของวัชพืชและหญ้าหรือต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นใหม่แล้วถูกเผาในช่วง 10 ปี มันจะมีน้ำหนักรวมที่มากพอ ๆ กับต้นไม้ใหญ่ที่ถูกตัดแล้วเผาในป่าตั้งแต่แรกทีเดียว

นักวิจัยคนอื่น ๆ ยังไม่สามารถปักใจลงไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าการเผาป่าซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นนี้มีผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกจริง เพราะเวลาวัชพืชต่าง ๆ เจริญเติบโตในบริเวณป่าที่ถูกเผาไปหมาด ๆ มันได้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศกลับไปด้วยและเขม่าที่ลอยละล่องอยู่ในบรรยากาศ ตามปกติก็มักจะทำให้อากาศเย็นลง ดังนั้น การเผาป่าซ้ำแล้วซ้ำอีกคงจะไม่ใช่คำตอบ สำหรับคำถามที่ว่าอะไรคือสาเหตุของการทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกอย่างสมบูรณ์

จะยังไงก็ตาม ขณะนี้นักวิจัยหลายคนคิดว่า การที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ให้ได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์นั้น เราต้องคอยข้อมูลเพิ่มเติมจากการทดลองชื่อ Large Scale Biosphere Atmosphere Experiment ที่รัฐบาลบราซิลจะดำเนินการในปีหน้า โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท และกินเวลานาน 4 ปี โครงการนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา เคมี นิเวศวิทยาและพฤกศาสตร์จากหลายประเทศร่วมมือกันศึกษาป่าที่สูญเสียคาร์บอนโดยการถูกเผา

เมื่อเดือนตุลาคม พ.. 2540 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยภาพถ่ายที่ดาวเทียม NCAA-12 ได้ถ่ายบริเวณป่าในลุ่มน้ำ Amazon ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ภาพที่ปรากฎแสดงให้เห็นว่า ภายในเวลาเพียง 40 วัน ชาวบ้านและชาวป่าในบริเวณนั้นได้เผาป่าไป 24,000 ครั้ง ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลขในอดีตถึง 28 เปอร์เซ็นนต์

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวเน้นว่าตัวเลขไฟป่าที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นไฟป่าที่ลุกโชติช่วงและรุนแรง แต่สำหรับไฟป่ากองเล็ก ดาวเทียม NCAA-12 มิสามารถตรวจจับได้ ดังนั้นตัวเลข 24,000 จึงเป็นตัวเลขต่ำ เพราะตัวเลขจริง ๆ สูงกว่านี้แน่นอน และจำนวนไฟป่าที่เกิดนี้ก็มิได้บอกปริมาณป่าที่ถูกทำลายตัวเลขชี้บอกแต่เพียงว่า ผู้คนในบราซิลมีแนวโน้มที่จะเผาป่ามากขึ้น ๆ ทุกปี

ก็ในเมื่อตัวเลขเผาป่าปัจจุบัน สูงกว่าตัวเลขเผาป่าในอดีต แต่ในอนาคตตัวเลขของกรณีเผาป่าจะลดลงจนเป็นศูนย์ เพราะป่าที่มีอยู่ถูกเผาหมดแล้ว

 


ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ ยกส้าน , วิทยาศาสตร์น่ารู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

 

ช่วยกันอนุรักษ์ชั้นโอโซน

ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อทุกประเทศทั่วโลก มลพิษอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่า การใช้สารเคมีในทางอุตสาหกรรม และการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยเฉพาะพวกถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิงก่อให้เกิดแก๊สต่าง ๆ อาทิเช่น คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ มีเทน ไนตรัสอ๊อกไซด์ โคลโรฟลูโอโรคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งเป็นแก๊สที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออุณหภูมิของโลก โดยที่แก๊สเหล่านี้จะสะสมกันอยู่ในบรรยากาศ ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวเหมือนอยู่ในเรือนกระจก

คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ นับเป็นแก๊สที่ทำให้เกิดความร้อนในโลกได้มากที่สุด ว่ากันว่ามีถึงครึ่งของแก๊สทั้งหมดที่ทำให้โลกร้อน ที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect) ส่วนใหญ่เกิดจากจากเผาเชื้อเพลิงจำพวกถ่านหินและน้ำมัน ต่อมาก็เป็นพวกสารเคมี จำพวกโคลโรฟลูโอโรคาร์บอน ร้อยละ 20 มีเทนร้อยละ 1.5 นอกนั้นก็เป็นโดยการตัดไม้ทำลายป่า

นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยจะสูงกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ 1.5o ถึง 4.5o ใน 40 ปีข้างหน้า และจะเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในลมฟ้าอากาศ กระแสน้ำในมหาสมุทร และน้ำแข็งที่ปกคลุมบนพื้นโลกมากขึ้น ระดับน้ำทะเลอาจขึ้นถึง 0.5 ถึง 2.0 เมตร สารเคมีโดยเฉพาะโคลโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) เป็นตัวสำคัญที่ทำลายชั้นโอโซน ทำให้แสงอุลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ สามารถส่องลงมาบนพื้นโลกได้มาก อันเป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์ สัตว์และพืช สารชนิดนี้ปกติใช้ในการอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น ในการทำความเย็นในเครื่องเย็น และเครื่องปรับอากาศ เป็นตัวทำลายในการชำระล้างเครื่องอีเลคทรอนิค เป็นตัวช่วยฉีดในกระป๋องผลิตภัณฑ์ที่ใช้พ่นฉีด และเป็นสารที่ใช้ในกรรมวิธีทำภาชนะบรรจุ และวัตถุที่ใช้ทำฉนวน

โดยที่ คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน เป็นแก๊สที่สำคัญที่ทำให้เกิดบรรยากาศเรือนกระจกมากที่สุด ผู้แทนจากหลายประเทศรวมทั้งองค์การเอกชนที่มีความห่วงใยในอนาคตของโลก ได้ประชุมกันและทำสนธิสัญญาตกลงที่เฮลซิงกิ เรียกว่าแถลงการณ์เฮลซิงกิ ให้เลิกใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ในปี ค.. 2543 (.. 2000) หลังจากแถลงการณ์นั้นก็ได้มีการประชุมแก้ไขสนธิสัญญา เพื่อเลิกลดการใช้ คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม และใช้สารอื่นทดแทน ให้มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้ทางประเทศกำลังพัฒนานำไปปฏิบัติเพื่อลดการใช้ คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ด้วย เนื่องจากมีรายงานจากองค์การป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐว่า 1 ใน 4 ของแก๊สที่ทำให้เกิดบรรยากาศเรือนกระจก ปัจจุบันมาจากประเทศทางเอเซีย โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และอินเดียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหินลิกไนท์และน้ำมัน และจะมีปริมาณมากขึ้นตามการพัฒนาของเศรษฐกิจและความหนาแน่นของประชากร

นอกจากแก๊ส CFCs แล้ว สารเคมีพวก ฮาลอนส์ (halons) ที่ใช้ในเครื่องดับเพลิง ก็เป็นแก๊สที่ทำให้เกิดบรรยากาศเรือนกระจกซึ่งก็จะต้องเลิกใช้เช่นกัน

รายชื่อสารเคมีจำพวก CFCs และฮาลอนส์ ซึ่งเป็นตัวการให้เกิดบรรยากาศเรือนกระจกมีอยู่ 8 ตัว คือ

CFC 11 Trichlorofluoromethane

CFC 12 Dichlorodifluoromethane

CFC 13 Trichlorotrifluoromethane

CFC 14 Dichlorotetrafluoroethane

CFC 15 (Mono) chloropentafluoroethane

Halon 1211 Bromochlorodifluornethane

Halon 1301 Bromotrifluorcthane

Halon 2402 Dibomotetrafluoroethane

นอกจากสารเคมี 2 จำพวกดังกล่าวก็ยังมีสารเคมีที่องค์การเอกชนจาก 28 ประเทศรวมทั้งกลุ่ม กรีนพีซ ได้เรียกร้องให้เลิกใช้คือ เมทิลโคลโรฟอร์ม คาร์บอนเตตระคลอไรด์และเมทิลคลอไรด์อีกด้วย

ในบรรดาประเทศที่ตื่นตัวมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ เยอรมนีตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่น แคนาดา นอรเว สวีเดน ที่ตกลงจะเลิกใช้ สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ก่อนถึงกำหนดคือไม่ถึงปี 2543

ดร.มุสตาฟา โทลบา เลขาธิการบริหารขององค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องในการประชุมเรื่อง สารเคมีที่ทำให้ชั้นโอโซนบางลง ให้เร่งเวลาเลิกใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดบรรยากาศเรือนกระจกโดยเร็วกว่าที่กำหนดไว้ในปี 2543 และได้ให้คำแนะนำด้วยว่า

- ให้มีการเร่งรัดลดการผลิต และการใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ก่อนปี 2543

- ให้มีแผนการช่วยเหลือทางเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาให้เปลี่ยนจากการใช้ สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน เป็นสารอื่นที่ไม่ทำลายโอโซน เทคโนโลยีเหล่านั้นต้องไม่ขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

- การออกกฎหมายที่แก้ไข และการเข้มงวดกวดขันในข้อกฎหมายต้องมีความยุติธรรม โดยให้รัฐบาลเสียประโยชน์น้อยที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงไปใช้แก๊สที่ปลอดภัยกว่า

ขณะนี้คงมีการศึกษาและติดตามเรื่องที่เกี่ยวข้องหลายเรื่องรวมทั้งการแก้ไขเพื่อแนะนำให้รัฐบาลต่าง ๆ นำไปใช้ และเรื่องของทัศนคติและบทบาทของอุตสาหกรรม ที่จะต้องร่วมมือกับผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ในขั้นต่อไปก็จะต้องมีการเจรจากันถึงเนื้อหาของสนธิสัญญาก่อนจะมีการลงนามกันในขั้นสุดท้ายซึ่งคงไม่เกินปี 2535

 


ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.วิจิตร บุณยะโหตระ, ชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ป่าชุมชน : ทางเลือกในการคุ้มระบบนิเวศโดยชุมชน

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มนุษย์สังเคราะห์แสงเองไม่ได้จึงไม่อาจสร้างอาหารด้วยตัวเอง ต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากป่าไปใช้ประโยชน์ วิธีการเก็บเกี่ยวมีหลายแบบ บางวิธีทำให้ระบบนิเวศเสื่อมลง แต่บางวิธีนอกจากจะไม่ทำลายยังช่วยให้เกิดการกระจายพันธุ์ และเพิ่มพูนคุณค่าทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในระบบนิเวศจึงเป็นความสัมพันธ์สองทาง คือ ทั้งใช้หรือเอาออกไปจากระบบ และให้หรือเกื้อกูลให้ระบบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในสมัยก่อน มนุษย์ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศป่าทางด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ยา ไม้ฟืนและไม้ใช้สอย และใช้อยู่ในท้องถิ่น คนในแต่ละท้องถิ่นจึงต้องคุ้มครองรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศป่าไม้ของตนเอาไว้ใช้ประโยชน์ กระบวนการคุ้มครองรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เรื่องที่เกี่ยวข้องมากก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันบางเรื่องก็เกี่ยวข้องเป็นครั้งคราวหรือตามฤดูกาล และสิ่งเหล่านี้ก็พัฒนาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม แต่ในยุคพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปจากการอยู่เป็นกลุ่มเป็นชุมชนเผ่าต่าง ๆ กลมกลืนไปกับระบบนิเวศที่หลากหลาย มาเป็นวิถีชีวิตแบบคนเมือง ทำให้แบบแผนการพึ่งพาทรัพยากรเปลี่ยนไป และไม่ได้จำกัดเพียงแค่พอใช้สอยในท้องถิ่น แต่เก็บไปสนองความต้องการอันไม่มีขีดจำกัดในเมืองและยังมุ่งสะสมเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ไปพัฒนาเมือง ในระยะแรกทรัพยากรพื้นฐานที่เก็บเกี่ยวจากป่าเพื่อการนี้คือไม้ซุง เพราะสมัยก่อนใช้ไม้ก่อสร้างบ้านเรือนอาคารร้านค้าต่อเรือสินค้าเดินทะเลขนาดใหญ่ไปค้าขายหรือไปล่าอาณานิคม ส่วนไม้ขนาดเล็ก สมุนไพรหรือพืชอาหารในป่าไม่ได้รับความสนใจและยังถูกมองเป็นวัชพืชที่เกะกะกีดขวางการเจริญเติบโตของไม้เศรษฐกิจ และเพื่อแข่งกันพัฒนาเมืองให้โตเร็วที่สุด จึงได้มีการปรับวิธีการและปริมาณการเก็บหาทรัพยากรจากระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด

ระบบการจัดการป่าไม้เพื่ออุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจของคนในเมือง ระบบนิเวศป่าซึ่งชุมชนท้องถิ่นดูแลต้องถูกยึดหรือรวบมาเป็นของรัฐ มีการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาควบคุมการทำไม้ซุงหารายได้เข้ารัฐ ใครให้ประโยชน์แก่รัฐมากก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเก็บหาหรือทำประโยชน์ตามระบบสัมปทาน สัมปทานป่าไม้จึงเน้นการเก็บเกี่ยวไม้ซุงออกจากระบบนิเวศ จึงมีการพัฒนาระบบการปลูกบำรุงป่าต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนไม้อื่นหรือชั้นรองจะถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศโดยตรงจากการถูกไม้ใหญ่ล้มทับหรือจากการชักลากไม้ นอกจากนี้ยังถูกทำลายทางอ้อมเพราะถูกกีดกันไม่ได้รับแสงแดดและจึงค่อย ๆ เฉาตายไปในที่สุด ระบบนิเวศป่าหลังการทำไม้ในระบบสัมปทานจึงเสื่อมโทรมมากแม้เนื้อไม้หรือมวลชีวภาพที่เก็บเกี่ยวไปในรูปไม้ซุงจะมีปริมาณไม่มากนัก เรื่องนี้เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ประเทศพัฒนาปรับปรุงการเก็บเกี่ยวไม้ซุงโดย
วิธีที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เช่น ชักลากไม้ทางอากาศด้วยสายเคเบิล แต่การทำไม้วิธีนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อไม้จากประเทศกำลังพัฒนา ป่าเขตร้อนในประเทศพัฒนาจึงไม่ค่อยมีการทำไม้ ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่มักมาจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเนื้อที่ป่าเหลือน้อยลงทุกที เนื้อที่ป่าประเทศพัฒนาจึงเพิ่มขึ้นและป่าก็สมบูรณ์ขึ้น ส่วนป่าในประเทศกำลังพัฒนากลับลดลงและเสื่อมโทรมลงเพราะประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจให้เปิดป่าเพื่อทำไม้และยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำไม้ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

ระบบนิเวศป่าเขตร้อนมีลักษณะเฉพาะตัว กล่าวคือ มีความซับซ้อนหลายหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ภูมินิเวศ และเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่า การพึ่งพิงระบบนิเวศป่าโซนร้อน จึงมีหลายรูปแบบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในการจัดการระบบนิเวศป่าเขตร้อนให้สนองวัตถุประสงค์หลายด้าน สนองความต้องการที่หลากหลายของคนทุกกลุ่ม และสอดคล้องกับระบบนิเวศจึงยุ่งยากซับซ้อน ทำได้ยากและยังไม่มีที่ใดประสพความสำเร็จ นอกจากในการจัดการแบบดั้งเดิมที่อิงวัฒนธรรมและสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

การจัดการระบบนิเวศป่าของไทยในปัจจุบันเนื่องจากเน้นด้านพัฒนาเศรษฐกิจมาก ไม่ละเว้นแม้แต่พื้นที่คุ้มครองเข้มงวดที่รัฐเปิดให้ทำธุรกิจท่องเที่ยวก็ยังไม่เหมาะสม สมควรต้องการปรับเปลี่ยน เพราะทำให้ป่าอยู่ไม่ได้และประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่หลากหลายหรือได้เฉพาะคนบางกลุ่ม ชุมชนจึงล่มสลาย การจัดการระบบนิเวศป่าเพื่อให้เกิดป่าสูงที่มีไม้ชั้นอากาศอายุเดียวกัน หรือใกล้เคียงลดหลั่นกันไปและจัดการตัดฟันเพื่อเปิดโอกาสให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสูงได้มีโอกาสสืบต่อพันธุ์และเติบโตทดแทนกันได้อย่างต่อเนื่องอาจจะไม่เพียงพอเสมอไป บางพื้นที่ต้องพัฒนาระบบที่รวมไปถึงการจัดการพืชคลุมดินชั้นล่างเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มปริมาณน้ำที่ซึมลงดิน ตลอดจนการจัดการไม้ชั้นรองเพื่อนำใบดอกและผลไปเป็นอาหารของคนและสัตว์ ส่วนไม้โพรงไม้ผุใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ดังนั้นทางเลือกของระบบจัดการป่าแบบใหม่จึงไม่ควรสร้างป่าชั้นอายุเดียวที่ใช้ผลผลิตเพียงอย่างเดียวในขั้นสุดท้าย แต่ควรจะต้องสร้างป่าให้มีต้นไม้หลากหลายประโยชน์ต่อเนื่องกันไป อันจะช่วยเชื่อมโยงการอนุรักษ์ระบบนิเวศและพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน การจัดการระบบนิเวศป่าแบบนี้เป็นการจัดการแบบประณีตซึ่งหน่วยงานของรัฐทำไม่ได้เพราะไม่มีความประณีตและศักยภาพเพียงพอสามารถทำงานได้เฉพาะด้านเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอ ในสถานการณ์ปัจจุบันโดยทั่วไปจึงไม่พบว่ามีวิธีใด (รวมทั้งวืธีการประกาศป่าอนุรักษ์แล้วห้ามไม่ให้มีกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ยกเว้นพนักงานเจ้าหน้าที่) ที่ดีไปกว่าวิธีการจัดการป่าในรูปแบบหรือกระบวนการของ "ป่าชุมชน" ซึ่งสามารถสนองความต้องการของชุมชนในระดับยังชีพ หรือหาอยู่หากินได้

ป่าชุมชนโดยทั่วไปเป็นผืนป่าผืนเล็ก ๆ มีขนาดและรูปแบบผันแปรไปตามลักษณะและพัฒนาการของชุมชน ป่าชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับระบบนิเวศป่าในท้องถิ่น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนจะราบรื่นและยาวนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของชุมชนเป็นสำคัญ ชุมชนล่มสลายป่าก็หมด ป่าหมดชุมชนก็ล่มสลาย ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างป่ากับชุมชนจึงเป็นที่รับรู้กันมานาน ดังนั้นเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการป่าที่เหมาะสม จึงต้องมีการพัฒนาองค์กรชุมชน สร้างแผนการจัดการนิเวศป่าชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้ทำ แผนการจัดการนิเวศป่าชุมชนจะช่วยให้เห็นภาพรวมของป่าทั้งผืน ทำให้รู้จักเข้าใจและเห็นคุณค่าป่าผืนใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้มองเห็นระบบนิเวศย่อย ๆ ในระบบนิเวศป่าผืนใหญ่ เช่น ที่สูงเป็นป่าดิบเขา ที่โคกเป็นป่าโคก หนองน้ำหรือที่น้ำท่วมขังเป็นฤดูกาลก็มีป่าพรุหรือป่าบุ่งป่าทามขึ้นอยู่ ที่ดินตื้นมีกรวดหินมากอากาศแห้งแล้งก็มีป่าเต็งรังขึ้น หากมีดินหนาขึ้นมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นมาสักหน่อยก็จะมีป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบแล้ง เป็นต้น ดังนั้นหากรู้จักระบบนิเวศดีพอ รู้จักเนื้อหาองค์ประกอบของระบบนิเวศที่มีอยู่ในป่า รู้จักกฎเกณฑ์หน้าที่ตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในป่า รู้ถึงผลกระทบและรู้จักจัดการกับผลกระทบจากการเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์สรรพสิ่งจากระบบนิเวศ และตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ คนกับระบบนิเวศก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน คนไม่ทำลายป่าและป่าก็จะไม่ทำลายคน คือ ไม่โค่นล้มมาทับหรือเป็นเหตุให้ชุมชนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่

กระบวนการที่จะช่วยให้คนรู้จักระบบนิเวศป่า อยู่กับป่าและพึ่งพาป่าได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกันมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่มีการจัดการ มีกลไกทางสังคมและทางการบริหารจัดการคอยควบคุมอีกชั้นหนึ่ง คือ รูปแบบของป่าชุมชน ป่าชุมชนจึงช่วยให้ป่าได้รับการคุ้มครอง ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ในระดับที่ได้ดุลยภาพหรือไม่ทำลายเพื่อช่วยให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ดุลยภาพเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกฏธรรมชาติ มีการถ่ายทอดพลังงาน การหมุนเวียนธาตุอาหาร การทดแทน การรบกวนทำลายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากมนุษย์ ตลอดจนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ หากชุมชนพึ่งระบบนิเวศมากเกินจุดดุลยภาพและระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้ตามธรรมชาติ ก็อาจต้องช่วยเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการปลูกเสริมและป้องกันอันตรายจากไฟหรือสัตว์เลี้ยงหรือใช้ระบบการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของต้นไม้ ซึ่งมีมากมายหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ ป่าชุมชนจึงไม่ใช่ป่าเพื่อเศรษฐกิจมุ่งทำไม้หรือผลิตไม้ไว้ใช้สอย แต่ไม้ใช้สอยเป็นผลผลิตหนึ่งในหลาย ๆ อย่างของการจัดการระบบนิเวศป่าชุมชน

การจัดการระบบนิเวศที่เป็นป่ามีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ เช่น คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อน้ำ และเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพคนส่วนใหญ่จะนึกถึงป่าและต้นไม้ในป่า แต่ความสำคัญของป่าในเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด หรือความหนาแน่นของต้นไม้ แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าของชีวภาพต่อมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ป่าในพื้นที่ราบที่ลุ่มต่ำจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าป่าที่สูง เพราะยิ่งสูงความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะเกี่ยวกับชนิดและพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตยิ่งลดลง ดังนั้นหากจะจัดการระบบนิเวศป่าเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจึงไม่ควรอพยพโยกย้ายคนจากที่สูงลงมาที่ลุ่มต่ำ และโดยสถานการณ์ทั่วไปก็ไม่ควรอพยพคนหรือชุมชนโดยอ้างเพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ เพราะการอพยพทำให้วัฒนธรรมและความเป็นชุมชนล่มสลาย ชุมชนตั้งใหม่จะใช้ป่าและทรัพยากรทุกอย่างอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอดกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ทำให้ระบบนิเวศป่าซึ่งรวมถึงดินและน้ำในที่ต่ำถูกทำลาย ในทางการจัดการลุ่มน้ำ คนส่วนใหญ่นึกถึงป่าบนภูเขาสูงทางภาคเหนือ เป็นความจริงอยู่มากว่าพื้นที่ป่าตามภูเขาสูงมีความสำคัญต่อน้ำและต่อสภาวะอากาศประจำถิ่น แต่พื้นที่อื่น ๆ อาทิ ที่ลุ่มและที่ริมลำห้วยลำธารก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเด็นการเก็บกักรักษาน้ำอาจสำคัญกว่าบนยอดเขาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เขาไม่สูงมากนักเพราะที่ลุ่มริมห้วยมีชั้นดินลึกกว่าสามารถเก็บน้ำได้มากกว่าที่สูงชันซึ่งมีแต่หินไม่ค่อยมีเนื้อดินจึงเก็บกักน้ำไม่ได้ นอกจากนี้การให้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำใด ๆ มิได้เกิดจากอิทธิพลของป่าแต่เพียงอย่างเดียวยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ อาทิ ลักษณะภูมิประเทศ เช่น ความสูงชัน ลักษณะดินหิน และภูมิอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ดังนั้นการจัดการป่าเพื่อน้ำจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติและกลไกธรรมชาติซึ่งมีข้อจำกัดอยู่มากและกฎเกณฑ์วิธีการของชุมชนในลุ่มน้ำ ถ้าต้องการให้มีน้ำพอใช้ คุณภาพดี และมีใช้ตามเวลาที่ต้องการ ก็ต้องจัดการป่า จัดการลุ่มน้ำร่วมกับชุมชน ไม่ใช่ล้อมรั้วหรือปล่อยป่าทิ้งไว้ตามยถากรรมซึ่งที่สุด น้ำก็ไม่ได้ ป่าก็ไม่เหลือ ทางด้านการคุ้มครองจัดการสัตว์ป่าก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่วิธีการจัดการสัตว์ป่าในปัจจุบันก็ยังมีปัญหา สัตว์ป่ามีค่าหายากหลายชนิดอยู่ในความควบคุมของมนุษย์โดยเทคโนโลยี สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า เพื่อป้อนแหล่งธุรกิจท่องเที่ยวตามสวนสัตว์ของประเทศที่ไม่มีป่าหรือสัตว์ป่า สุดท้ายจึงหนีไม่พ้นประเด็นเพื่อธุรกิจการค้า สัตว์ชนิดใดมีศักยภาพในทางการค้าก็จะมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะถูกไล่ล่าจนใกล้สูญพันธุ์จึงจะได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนโดยที่หลายชนิดก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนว่าการคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นรายชนิดรักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ไม่ได้ การป้องกันรักษาเฉพาะถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าก็รักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ไม่ได้ เพราะการสูญเสียชีวิตสัตว์ป่าส่วนใหญ่เกิดจากคน คนจึงเป็นปัจจัยสำคัญและหากให้การศึกษา มีความรู้ความเข้าใจสามารถจัดการสัตว์ป่าได้ในระดับที่เหมาะสมก็จะได้ประโยชน์เพราะสัตว์ป่าจะสามารถสืบพันธุ์ทดแทนกันได้แต่หากควบคุมไม่ได้ก็จะทำให้สัตว์สัตว์ป่าสูญพันธุ์ไป

โดยปกติสังคมไทยชนบทเลี้ยงสัตว์ไม่กี่ชนิดเพื่ออาศัยแรงงาน อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย หรือเป็นอาหาร และไม่ทรมานสัตว์โดยขังไว้ในกรงตามบ้านเพื่อไว้ดูเล่นหรือจำหน่ายเหมือนคนในเมือง ชุมชนใกล้ป่าก็พึ่งพาสัตว์ป่าบางชนิดเป็นอาหารแบบหาอยู่หากิน และหากนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนก็มักทำไปเพื่อสิ่งของที่จำเป็น เช่น ข้าว ยา มิได้ทำเป็นธุรกิจการค้าใหญ่โต สัตว์ป่าจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน (ซึ่งปัจจุบันบทบาททางอาหารลดน้อยลงไปเพราะมีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น) และการหาสัตว์ป่าบางชนิดเป็นอาหารช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่า เกิดประโยชน์ในแง่การศึกษาอย่างมหาศาล องค์ความรู้เรื่องสัตว์ป่าทั้งของเมืองไทยหรือทั่วโลกก็ได้มาจากชาวบ้านจากพรานป่าเหล่านี้ ป่าชุมชนจึงเป็นประโยชน์ในแง่การคุ้มครองรักษาและจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าได้อีกทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าป่าชุมชนบางแห่งจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจและจัดการได้เหมาะสมก็ช่วยคุ้มครองสัตว์ป่าได้ ธรรมชาติของสัตว์ที่อาศัยในป่ามิได้กระจายอยู่ตามแนวราบเท่านั้น ยังกระจายตามแนวดิ่งตามชั้นความสูงของระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ปีกและสัตว์ห้อยโหนและระบบนิเวศป่าช่วยสมดุลประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นป่าใหญ่หรือป่าเล็ก แต่หากมีการจัดการระบบนิเวศป่าที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพให้คุณค่าทางด้านต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าเช่นกัน

ระบบนิเวศป่าจึงเป็นที่รวมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสังคมทุกระดับชั้น ดังนั้นหากจะต้องหาทางเลือกในการคุ้มครองระบบนิเวศป่าให้อยู่ได้ คนในสังคมซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรต้องเป็นผู้ตัดสินใจ หากสังคมต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากป่าก็ต้องจัดการให้ได้ผลผลิตอย่างนั้น เช่น ต้องการไม้ซุงก็ต้องจัดการป่าให้ไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจได้มีโอกาสเจริญเติบโตมากกว่าพืชพรรณชนิดอื่นและตัดฟันออกมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังอาจใช้รูปแบบการจัดการแบบสัมปทานรายใหญ่ รายย่อย หรือจัดการโดยรัฐ หากต้องการน้ำก็สร้างกลไกลควบคุมการไหลของน้ำ ควบคุมป้องกันคุณภาพน้ำในลำธาร โดยออกกฎหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้ หากต้องการสัตว์ก็ต้องเสริมสร้างแหล่งอาหาร น้ำและพันธุ์ไม้ที่สัตว์ต้องการเพื่อดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาอยู่อาศัยและหากิน หากต้องการประโยชน์หลาย ๆ อย่าง เช่น น้ำใช้และทำการเกษตร ไม้ใช้สอย สัตว์ป่า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะชนเผ่าที่อยู่มาก่อนแล้ว ก็ต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมที่ให้ความสำคัญทุกด้าน ซึ่งก็หมายถึงการจัดการป่าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ดีของคนซึ่งรวมเรียกว่าวัฒนธรรม

เมืองไทยจะคุ้มครองและจัดการระบบนิเวศป่าในรูปแบบใด จึงจะเสริมคุณค่าทางอนุรักษ์และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้หากไม่ใช้รูปแบบป่าชมชน อันเป็นทางเลือกที่เป็นทางออกได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเพราะสามารถสร้างเสริมนิเวศป่าให้เป็นมรดกไทยได้โดยคนไทย โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใดมาประกาศเป็นมรดกโลกแล้วจัดการไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ มิฉะนั้นป่าจะไร้ซึ่งระบบการคุ้มครองจัดการที่เหมาะสมและโปร่งใส และง่ายต่อการถูกทำลายโดยกระบวนการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และหากป่าถูกทำลาย ใครเป็นผู้ผิด จริงอยู่ที่กฎหมายมีเจตนาที่จะรักษาป่า แต่กฎหมายที่ห้ามหรือตัดความสัมพันธ์ของคนกับป่า ขัดกับความเป็นจริง และหลักวิชาการของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบนิเวศ ซึ่งคนและป่าต้องพึ่งพากัน จึงต้องเน้นให้คนใช้ประโยชน์จากป่าด้วยความเคารพและปกป้องคุ้มครองป่าเท่าเทียมกับชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง คนชนบทลักลอบตัดไม้ขาดโรงเลื่อยและโรงงานแปรรูปได้ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายให้กับคนทั่วไป คนที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือสินค้าจากป่าผ่านกระบวนการเช่นนี้ ก็มีส่วนร่วมในการลักตัดไม้จากป่าจึงถือได้ว่าเป็นกรรมหรือการกระทำร่วมกันตั้งแต่คนตัดไม้ แปรรูปจนถึงผู้บริโภค จะสำคัญผิดแยกตัวผู้บริโภคไม้ออกมาจากชาวบ้านผู้ลักตัดไม้หาได้ไม่ เพราะหากไม่มีผู้ซื้อไม้ก็จะไม่มีผู้ตัดไม้ขาย ไม่มีคนซื้อที่ดินก็จะไม่มีคนถางป่าขายที่ดิน เพราะการถางเผาป่าให้โล่งเตียนไม่ใช่งานเบางานสบาย และหากเคราะห์ร้ายก็ต้องถูกจับไปลงโทษ ถ้าเหมาเอาคนอยู่ในเขตป่าเป็นผู้ร้าย เป็นศัตรูกับป่า เมืองไทยก็จะมีคนที่ตกอยู่ในข่ายเป็นอาชญากรเกือบสิบล้านคน หากมีคนเกิดใหม่ในคนกลุ่มนี้ร้อยละสองหรือปีละประมาณสองแสนคน ก็หมายความว่ามีผู้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นปีละสองแสนคน ราชการคงจะต้องจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาปราบปรามคนเหล่านี้ ซึ่งไม่มีผู้ใดได้ประโยชน์ ประเทศชาติเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากมุมมองหรือแนวทางแก้ปัญหาแบบนี้ การกันเขตที่ดินป่าไม้ที่ไม่ใช่ป่าและชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินอยู่แล้วไว้เป็นป่าเศรษฐกิจหรือป่าอนุรักษ์ในความควบคุมดูแลของรัฐ จึงเข้าข่ายเสียน้อยเสียมากเสียง่าย เป็นเหตุให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้ป่าสมบูรณ์ดีกลายเป็นป่าเสื่อมสภาพ ดังที่เห็นกันอยู่มากมายในยุคที่มีการอนุญาตให้เอกชนเช่าป่าเสื่อมโทรมทำธุรกิจ โดยไม่พิจารณาถึงศักยภาพของชุมชน

ในอดีตเพียงเมื่อชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนเห็นพ้องต้องกัน ก็เกิดป่าชุมชนได้แล้วภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของชุมชน สมาชิกของชุมชนเคารพกฎเกณฑ์ และแบ่งปันกัน ไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องสิทธิของชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดของทางตะวันตก ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการมุ่งใช้มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดและควบคุมป่า ข้อตกลงของชาวบ้านหรือชุมชนไม่มีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองป้องกันภัยจากคนนอกชุมชนหรือคนในเมือง ข้อตกลงของชุมชนกลายเป็นข้อตกลงที่ไม่ถูกกฎหมาย ดังนั้นในสถานการณ์ซึ่งมีการแก่งแย่งแข่งขั้นการใช้ทรัพยากรสูงในปัจจุบันหากสังคมไทยอยากให้ป่าชุมชนเดิมอยู่ได้และเกิดป่าชุมชนขึ้นมาใหม่ ก็จะต้องยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการคุ้มครองดูแลระบบนิเวศป่า และกระตุ้นสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันวางแผนการคุ้มครองจัดการนิเวศป่าให้เหมาะสม เมื่อมีกลไกในการสนับสนุนและควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม การสนับสนุนให้เกิดป่าชุมชนในพื้นที่คุ้มครองดูจะเสริมความมั่นคงได้ดีกว่าการปล่อยให้พื้นที่คุ้มครองตกเป็นภาระของทางราชการ ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลาง ไม่ต่างอะไรกับการจัดการป่าในระบบอุตสาหกรรมโดยสัมปทาน เพียงแต่ของที่นำไปขายไม่ใช่ไม้ซุงเหมือนเดิม แต่ขายสิทธิประโยชน์ในการควบคุมจัดการทรัพยากร เช่น การท่องเที่ยว สร้างถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกจูงใจคนไปเที่ยวเพื่อหวังรายได้ โดยไม่คำนึงว่าระบบนิเวศป่าจะสามารถที่จะรองรับได้หรือไม่ ส่วนคนกลุ่มไหนจะได้รับความไว้วางใจให้จัดการ ควรปล่อยให้ชุมชนตกลงกันเองโดยมีกลไกควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม

เจตนารมย์ในการคุ้มครองรักษาระบบนิเวศป่าและกลไกการสนับสนุนและติดตามควบคุมการจัดการระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนได้มีการนำเสนอไว้แล้วใน พระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่นำมาทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบของทางราชการ หากช่วยกันสนับสนุนป่าชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะช่วยให้ชุมชนเริ่มกระบวนการคุ้มครองระบบนิเวศ และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศได้ ส่วนทิศทางในอนาคตคงต้องอาศัยเวลาและนำประสบการณ์ของทุกฝ่ายมาพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติต่อไป

 


ที่มา : รวบรวมจาก เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ข่าวสารป่ากับชุมชน ปีที่ 4 ฉบับที่ 8 ประจำเดือน กันยายน 2540