ป่า : ทรัพยากรของเราวัฒนธรรมของเรา

ผศ.เตือนใจ โก้สกุล  และ รศ. ดร. อรุณี จันทรสนิท

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ป่า  ทรัพยากรป่าไม้  วัฒนธรรมในชนบท  วัฒนธรรมไทย

 

บทคัดย่อ

ป่าไม้เป็นแหล่งที่มาของไม้ ไม้ฟืนและผลผลิตอื่นๆ และยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์น้ำและดิน รักษาชั้นบรรยากาศของโลกและบำรุงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่คืนรูป และหากสามารถจัดการป่าไม้ให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แล้วสามารถนำไปผลิตสินค้าและบริการต่าง ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาประเทศได้ ในอดีตที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความอยู่รอดและความเป็นอยู่ของคนในชนบทต้องพึ่งพาอาศัยป่า  จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมของท้องถิ่น สืบเนื่องจากความรู้ท้องถิ่นมาใช้ในการยังชีพ  มีการสืบทอดมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด ความทุกข์ยากที่แสนสาหัสของชาวชนบทก็ยังคงต้องมีการลักลอบตัดไม้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงไม่อาจสนใจความยั่งยืนของทรัพยากรป่าได้   ทรัพยากรป่าไม้ของไทยที่ลดลงจนเป็นปัญหาวิกฤตในปัจจุบันนี้และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม   ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ที่ยังไม่ประสบผล และคนไทยบางกลุ่มก็ยังคงมีวัฒนธรรมของการบริโภคอย่างไม่รู้จักพอ  การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องอาศัยรูปแบบของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การจัดการป่าควรเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตทางด้านเศรฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและจิตใจ ชาวบ้านมักจะพูดถึงว่าป่าให้อะไรแก่พวกเขา  ให้หน่อไม้ เห็ด อาหาร ฟืน และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงมีวัฒนธรรมทางแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของนักวิชาการ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ให้เกิดความเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเป็นป่า   ความสำคัญของป่าไม้ ความสมดุลของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม    และการใช้ประโยชน์จากป่านั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่การเรียนในชั้นอนุบาลได้แล้วหรือยัง ส่วนในการเรียนการสอนควรฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้วิธีวิทยา (methodology) และกระบวนการที่เข้าไปพูดคุยในหมู่บ้าน หรือไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน  นิสิตได้เรียนรู้ความเป็นอยู่  ตลอดจนกระบวนการหา  และวิเคราะห์ข้อมูล  และในที่สุดนิสิตสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ป่า : ทรัพยากรของเราวัฒนธรรมของเรา

1.       ป่า : ทรัพยากรของเรา

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ตั้งอยู่บนคาบสมุทร ภูเขาทางภาคเหนือเป็นเทือกเขาที่ติดต่อกับเทือกเขาหิมาลัย และมีทิวเขาทอดตัวลงทางใต้ เช่น เทือกเขาธงชัย เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่า นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราชทอดตัวลงทางใต้ลงไปถึงชายแดนจรดเทือกเขาสันกาลาคีรี ส่วนทางภาคกลางต่อภาคอีสานก็มีเทือกเขาเพชรบูรณ์   เทือกเขาดงพญาเย็นและเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นชายแดนไทยกัมพูชา ประเทศไทยเป็นรอยต่อระหว่างป่าดงดิบชื้นกับป่าผลัดใบ   ในประเทศไทยสังคมพืชนั้นหลากหลาย อยู่ชิดติดต่อกันคล้ายโมเสค  (Mosaic Vegetation) บ่อยครั้งที่พบว่าริมห้วยเป็นป่าดิบมีหวาย   สูงขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบ และห่างออกไปไม่มากเป็นป่าเต็งรัง สูงขึ้นไปอีกนิดเป็นป่าดิบเขา ป่าสนเขา สังคมพืชต่าง ๆ นี้อยู่ใกล้ชิดติดต่อกันจำนวนสิ่งมีชีวิตก็หลากหลายตามไปด้วย หรือแม้แต่บนภูเขาหินปูนแถบกาญจนบุรีบนทางด้านลาดทิศใต้เป็นป่าไผ่ ส่วนด้านลาดทิศเหนือเป็นป่าผลัดใบ มีไม้ตะแบกและไผ่รวมกัน แต่ตามริมห้วยและสันเขา เป็นป่าดงดิบ

ป่าไม้ในประเทศไทย จัดเป็นป่าเขตร้อน( Tropical Forest ) ซึ่งสังคมพืชในป่าเขตร้อนเป็นสังคมพืชที่มีพืชมากชนิดที่สุด ความเจริญเติบโตสูงสุดและมีความสลับซับซ้อนในแง่ของการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นสังคมพืชที่ถูกทำลายให้สูญหายไปได้ง่ายที่สุดอีกด้วย

ป่าในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forest )และป่าผลัดใบ (Deciduous Forest)  ป่าไม่ผลัดใบ ได้แก่ป่าดงดิบมีประมาณร้อยละ 30 ของเนื้อที่ป่าในประเทศ ป่าดงดิบมีอัตราการย่อยสลายสูงสุดแต่สารอาหารก็ไม่สะสมอยู่บนพื้นเพราะถูกพืชดูดซึมเอาไปใช้อย่างรวดเร็วหรือไม่ก็ถูกน้ำฝนชะล้างไป  จึงไม่น่าแปลกที่ป่าอันเขียวชอุ่มกลับมีพื้นดินขาดแคลนแร่ธาตุ ความอุดมสมบรูณ์ต่ำ เมื่อคนบุกเข้าไปถางป่า เผาต้นไม้ทำไร่เลื่อนลอยเพื่อจะใช้พื้นที่ป่านั้นได้เพียง 2-3 ปี ดินก็จะหมดสภาพสำหรับการเพาะปลูก ถึงแม้พยายามจะฟื้นสภาพดินขึ้นมาใหม่ก็ทำได้ช้า นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเผาทำลายป่า ซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณก็าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลนั้นถูกส่งขึ้นไปสู่บรรยากาศ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทำให้ความชุ่มชื้นหมดไปในที่สุด ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังพื้นจะลดน้อยลง  และส่งผลให้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในป่าก็ถูกทำลายไปด้วย    ผลของการทำลายป่าจะมีผลไม่เพียงแต่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์อีกด้วย  พืชสมุนไพรที่สำคัญ 1 ใน 4 ชนิดที่ได้มาจากพืชในป่า (รวมทั้งอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ยังไม่ได้สำรวจ)  นอกจากนี้ยังมีป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาลและมีความสำคัญต่อมนุษย์ในหลายรูปแบบ เช่น การนำไม้มาใช้เพื่อการเผาถ่าน เป็นไม้ฟืน ไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน เฟอร์นิเจอร์ ป่าชายเลนทำหน้าที่เสมือนกำแพงป้องกันคลื่นลมที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เมื่อได้รับความเสียหายหรือพังทลายจากพายุ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งวางไข่และถิ่นอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ใบที่ร่วงหล่นทับถมเป็นแหล่งอาหารของสัตว์เล็กๆ รากไม้จะช่วยดักจับตะกอนและเลน ซึ่งจะนำความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้มาจากแผ่นดิน ผลเสียที่เกิดกับป่าชายเลนคือมีปริมาณสารมลพิษที่ถูกสะสมอยู่ในดินเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงป่าชายเลนเพื่อกิจการต่างๆ เช่น การทำนากุ้ง การทำเหมืองแร่ การตัดถนน ปลูกสิ่งก่อสร้าง ถือว่าเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำกร่อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนนั้น  ส่วนป่าผลัดใบที่พบครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทยมากที่สุด ทั้งยังเป็นป่าเศรษฐกิจที่มีคุณค่า และมีความสำคัญมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ป่าเบญจพรรณซึ่งมีต้นไม้หลากหลายชนิดขึ้นปะปนกัน พบในภาคเหนือ ภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ มีต้นสักซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจและยังอุดมด้วยพันธุ์สัตว์นานาชนิด    นอกจากนี้ยังมีป่าเต็งรังที่มีโครงสร้างเป็นป่าโปร่งกว่าป่าเบญจพรรณ และธำรงสภาพอยู่ได้โดยมีไฟป่าเป็นตัวกำหนดซึ่งมีพันธุ์ไม้เด่น คือ เต็ง รัง   พยอม เหียง พลวง ยางกราด  ป่าชนิดนี้มักถูกทำลายในรูปของการตัดต้นไม้เพื่อการใช้สอยในด้านต่างๆ เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ฟืน เผาถ่าน  แต่จะไม่มีการยึดครองพื้นที่เนื่องจากสภาพทั่วๆไปเป็นดินลูกรัง

 

2.       ป่า:สถานภาพ และวัฒนธรรมของเรา

ป่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล นับเป็นหัวใจของสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยดิน ต้นไม้ หรือ พืชพรรณ สัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก   ที่สำคัญคือเป็นแหล่งซึมซับน้ำอย่างมหาศาล  ป่ามีความผูกพันต่อการดำรงชีพของมนุษย์มาก ซึ่งจะอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม    ป่าไม้ถือเป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่สุด สิ่งมีชีวิตดังกล่าว อาจจะมีค่าโดยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตยารักษาโรคและสารเคมีตามธรรมชาติ  ช่วยรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมอื่นๆ เป็นแหล่งปัจจัยในการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์  มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้นานัปการ     แต่เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  การใช้ประโยชน์จากป่าก็จะเพิ่มมากขึ้นจนเกินกำลังผลิตของป่า ตลอดจนการแผ้วถางทำลายป่าเพื่อเหตุผลต่างๆ จนก่อให้เกิดความแปรปรวนของธรรมชาติ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ขาดน้ำกินน้ำใช้เพราะขาดพื้นที่ป่าสำหรับกักเก็บน้ำทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์ พร้อม ๆ กับการเกิดอุทกภัย แผ่นดินถล่ม ซึ่งยังไม่รวมถึงการที่ต้องสั่งซื้อปุ๋ยเป็นหมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยการสูญเสียความอุดมสมบรูณ์ของผิวหน้าดินที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้  ทรัพยากรป่าไม้จึงมีบทบาทต่อการรักษาดุลภาพทางธรรมชาติ คงความสมดุลของ ดิน น้ำ และอากาศไว้ได้  พื้นที่ป่าไม้ลดลงทุกปี       ดังนั้นการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้เพื่อความอยู่รอดในอนาคต  รวมทั้งส่งผลต่อไปถึงความมั่งคั่งของทรัพยากรอื่นๆ ตามมา จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความสำคัญของป่าซึ่งมีกระบวนการทางนิเวศที่สลับซับซ้อน การดำรงไว้ซึ่งรูปแบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต ที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างเลียนแบบได้   แผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติควรให้ความคุ้มครองรักษาป่าที่มีลักษณะพิเศษบางชนิด เช่นป่าที่มีไม้ที่เก่าแก่หรือป่าที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม จิตใจ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และอื่นๆ    ป่าของไทยถือว่าเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และสิทธิต่าง ๆ ของคนพื้นเมืองและผู้อาศัยอยู่ในป่า  ในการจัดทำแผนงานป่าไม้จึงควรให้ความเคารพ  ควรใช้ความรู้ในการอนุรักษ์  และการใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อคนพื้นเมืองและผู้อาศัยอยู่ในป่าได้อย่างยั่งยืน  ส่งเสริมกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ  และการครอบครองที่ดินของคนเหล่านี้ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้ประโยชน์ป่าไม้ยั่งยืน   รวมทั้งให้มีการทำงานเลี้ยงชีพและมีระดับของความเป็นที่อยู่ที่เหมาะสม

              ความเป็นอยู่ของคนในชนบทยังคงต้องพึ่งพาอาศัยป่า  จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมของท้องถิ่นสืบเนื่องจากความรู้ท้องถิ่นมาใช้ในการยังชีพ   มีการสืบทอดมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด   ความทุกข์ยากแสนสาหัสในอดีตของชาวชนบทมีการลักลอบตัดไม้เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่ได้   จึงไม่อาจสนใจความยั่งยืนของทรัพยากรป่าได้   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรป่าไม้ของไทยที่ลดลงจนเป็นปัญหาวิกฤตในปัจจุบันนี้ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเรื้อรังต่อสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ที่ยังไม่ประสบผล และคนไทยบางกลุ่มก็ยังคงมีวัฒนธรรมของการบริโภคอย่างไม่รู้จักพอ    การที่คนมีรายได้อย่างอื่นแล้วก็ยังคงใช้ทรัพยากรจากป่า  หรือแม้แต่คนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วก็อาจแสวงหาผลประโยชน์จากป่าอีก   รวมทั้งอีกหลายๆ คนที่มีวัฒนธรรมชื่นชมธรรมชาติจากป่า แต่ก็ยังคงทำลายป่าอยู่อีก  รวมทั้งมีนายทุนหนุนอยู่เบื้องหลัง  การจัดการกับกลุ่มคนที่มีอิทธิพลคงเป็นไปได้ยากยิ่ง  แต่การสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นสามารถจัดรวมตัวกันเป็นกลุ่ม หรือองค์กร เพื่อจัดการทรัพยากรป่าของพวกเขาให้เป็นส่วนรวมร่วมกันคงไม่ยากนัก หากตระหนักในคุณค่าของป่าจึงควรเร่งปกปักรักษาทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งนับวันจะไม่เพียงพอสำหรับมนุษย์ และนับวันจะเสื่อมโทรมลง  เพราะการใช้สอยเอาทั้งไม้และพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์อย่างไม่ระมัดระวัง  แล้วลูกหลานของเราในอนาคตจะประสบภัยพิบัติต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น การอยู่รอดของป่าไม้จึงขึ้นอยู่กับการยอมรับและการให้ความคุ้มครองคุณค่า (value)  ของป่าไม้ทางด้านสิ่งแวดล้อม  ทางด้านการควบคุมสภาพภูมิอากาศ และคุณค่าทางเศรฐกิจและสังคม

 

3.       การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยรูปแบบของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดังเช่น ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้จัดการสวนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ FSC (Forest Stewardship Council = สภาป่าไม้โลก) ด้วยการจัดตั้งอยู่บนพื้นฐานองค์ประกอบ 3 ประการ ที่เท่าเทียมกันได้แก่

1.       ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและชีววิทยา(Environment and Biology Sustainability)

2.       ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ(Economics Sustainability)

3.       ความยั่งยืนด้านสังคม(Social Sustainability)

ดังนั้นการจัดการป่าควรเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตทางด้านเศรฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมและจิตใจ ป่าไม้ที่ได้รับการปลูกสร้างขึ้นมานี้จะเป็นแหล่งที่จะสร้างความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม  ทั้งยังเกิดพลังงานที่คืนรูป  และ วัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรม การใช้ไม้ทำฟืน ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ความจำเป็นดังกล่าวควรได้รับการตอบรับด้วยการใช้ป่าไม้อย่างยั่งยืน และการปลูกป่าขึ้นใหม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานและลดความกดดันที่จะตัดไม้จากป่าที่มีอายุมานาน

นอกจากสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่ยั่งยืนแล้ว ยังต้องจัดตั้งหรือขยายบริเวณพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครอง (protected areas) ออกไป เพื่อรักษาป่าไม้บางชนิดเอาไว้ อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ และถิ่นพำนักอาศัยของสัตว์ป่า  การคุ้มครองป่าเพื่อคุณค่าทางสังคมและจิตใจ รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยดั้งเดิมของชนพื้นเมืองผู้อาศัยอยู่ในป่าและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ  หากมองไปข้างหน้าให้ไกลเพื่อพยายามผสมผสานให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการโครงงานเชิงปฏิบัติการที่มีการเชื่อมโยงของสาขาต่างๆ (interdisciplinary) เช่น เรื่องวัฒนธรรม  คุณธรรม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเข้าด้วยกัน ดังเช่น การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรป่าเพื่อนำไปสู่การเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ชุมชนท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าร่วมโครงการด้วยความจริงใจ      ใน Agenda 21 ของ UNCED  (UN Conference on Environmet and Development 1992) ก็พูดถึงความรู้ท้องถิ่นไว้ว่า ควรสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมรักษาประเพณี วิถีชีวิต และองค์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ (ดอนปู่ตา การบวชป่า  ต้นสะเดาผสมนาข้าว  ต้นตาลผสมนาข้าว) และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากป่าได้อย่างยั่งยืนด้วยเหตุนี้หากมีการสนับสนุนและให้โอกาสชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็น สนทนาแลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนหลายๆ ฝ่าย  เพื่อให้เขาได้แสดงบทบาทของเขาเอง  กล่าวคือ อย่านำความรู้สึก ความเข้าใจของตนเองไปใส่ให้ชาวบ้าน  และที่สำคัญที่สุดในการเรียนการสอนควรฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้วิธีวิทยา (methodology) และกระบวนการที่เข้าไปสนทนากับชาวบ้านในหมู่บ้าน มิใช่หอบ แบบสอบถาม (questionanaire) ไปหนา 30-50 หน้า เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน เสร็จแล้วก็กลับ ในทางตรงข้ามนิสิตควรเรียนรู้ความเป็นอยู่  กระบวนการสนทนาในหมู่บ้าน คุยเป็น ถามเป็น หาข้อมูลเป็น วิเคราะห์เป็น และในที่สุดก็เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกอย่างคือการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ให้เกิดความเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเป็นป่า   ความสำคัญของป่าไม้ความสมดุลของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม   และความสำคัญและการจัดการป่านั้นควรเริ่มต้นการเรียนในขั้นพื้นฐานตั้งแต่อนุบาลด้วยสื่อที่เหมาะกับวัยได้แล้วหรือยัง

 

บรรณานุกรม

 

โกวิท ฉายสุรีย์ศรี.2544. เอื้อเฟื้อภาพที่ใช้ประกอบการเรียนรู้เรื่องความสำคัญของป่าในระดับอนุบาล. ศูนย์จัดการเมล็ดไม้ป่าภาคกลาง (กรมป่าไม้). มวกเหล็ก.จังหวัดสระบุรี.

เตือนใจ โก้สกุล. 2542.ความสัมพันธ์ระหว่างพืช และสิ่งแวดล้อม(1). ใน  http://www.sc.chula.ac.th  เลือกเรียนหนังสือ On line.

เตือนใจ โก้สกุล. 2543.ความสัมพันธ์ระหว่างพืช และสิ่งแวดล้อม(2). ใน  http://www.sc.chula.ac.th  เลือกเรียนหนังสือ On line.

เตือนใจ โก้สกุล. 2544.  ป่าของเราทรัพยากรของเรา. ค่ายวิทยาศาสตร์หว้ากอ ครั้งที่ 18. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. ยูเนี่ยน แอนด์ กราฟฟิค.  กรุงเทพฯ.

นิวัติ  เรืองพานิช.  2542. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  รั้วเขียว . กรุงเทพฯ.

มูลนิธิโลกสีเขียว. 2536. ดินและป่าไม้.  สำนักงานมูลนิธิโลกสีเขียว. กรุงเทพฯ.

แมคกรอ-ฮิล และ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. 2543. แผนที่โลกปัจจุบัน. แมคกรอ-ฮิลอินเตอร์ เนชั่นแนลเอ็นเตอร์ไพร์ส  อิงค์. กรุงเทพฯ.

ราตรี ภารา.  2538.  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  ทิพยวิสุทธิ์. กรุงเทพฯ.

 

วิจิตร บุญยโหตระ. 2537.  ชีวิตและสิ่งแวดล้อมเล่ม2.  สัมผัสที่6. กรุงเทพฯ.

วิชัย เทียนน้อย. 2539.  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ.  อักษรวัฒนา. กรุงเทพฯ.

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้. 2544. การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน.ราชดำเนิน.กรุงเทพ ฯ. (โรเนียว)

Micheal Keating. 1997. The Earth Summit’s Agenda for Change. The Association for Life and Environment.